กิจของสงฆ์

วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
กิจของสงฆ์ ไม่ใช่คำศัพท์ในอภิธรรม แต่เป็นวลีที่อยู่ในไตรปิฎก พบได้ในไตรปิฎกเช่นกัน มีความสำคัญ จึงได้นำมาอธิบายเพิ่มเติม กล่าวคือ คำว่า "กิจของสงฆ์" นี้ หมายถึง สิ่งที่พระสงฆ์ควรต้องทำ เนื่องจาก บางสิ่งก็ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ไม่ใช่สิ่งที่สงฆ์ควรต้องทำ เช่น การทำงานแลกเงิน, การมีอาชีพ นั้น ไม่ใช่กิจของสงฆ์ การที่สงฆ์ทำกิจอันใดก็แล้วแต่ เพื่อให้ได้มาซึ่งลาภสักการะ, เงินทอง นั้นก็ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ไม่ใช่สิ่งที่พระสงฆ์ควรต้องทำ หรือแม้แต่กิจใดๆ อันปกติแล้วพระสงฆ์ไม่จำเป็นต้องทำอีกแล้ว และไม่มีผู้นิมนต์ให้ทำ นั่นก็ไม่ใช่กิจของสงฆ์ เช่น ก่อนบวชเป็นพระ สงฆ์อาจเป็นพราหมณ์มาก่อน ทำพิธีกรรมเพื่อช่วยเหลือเกื้อหนุนทางโลกมาก่อน เมื่อบวชเป็นพระแล้ว หากไม่มีผู้นิมนต์ ก็ไม่ใช่กิจของสงฆ์อันพึงต้องทำ แม้แต่การสวดมนต์ แท้แล้วดั้งเดิมก็ไม่ใช่กิจของสงฆ์มาก่อน แต่ "นิกายเถรวาท" ได้คิดค้นวิธีที่จะทำให้ชนรุ่นหลังจดจำพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ จึงใช้กุศโลบายให้พระสงฆ์สวดมนต์ นี่ก็ไม่ใช่กิจของสงฆ์แต่ดั้งเดิมมา (ดั้งเดิมแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้พระสงฆ์สวดมนต์ การสวดมนต์มีได้ในบางกรณี เช่น กรณีที่พระพุทธเจ้าได้รับนิมนต์จากคนผู้หนึ่ง ขอให้ช่วยบุตรชายของตน) หรือแม้แต่การเข้าร่วมใน "การสังคายนาพระไตรปิฎก" ก็ไม่ใช่กิจของสงฆ์แต่ดั้งเดิม แต่เป็นไปด้วยความคิดของพระมหากัสสปะ ที่ต้องการเรียบเรียงพระธรรมวินัยให้ชัดเจนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ กิจของสงฆ์แท้แล้วจึงน้อยมาก เช่น การทำหน้าที่เป็น "เนื้อนาบุญแก่โลก" แต่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องทางโลก ด้วยการบิณฑบาตรยังชีพทุกวัน เป็นต้น รับทักษิณาทานจากผู้อื่นที่ให้ตนได้ แต่ไม่ใช่เรียกร้องหรือร้องขอให้เขาให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ตน เนื่องจากการร้องขอ ไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่เป็นกิจของขอทาน ก็เท่านั้นเอง


อนึ่ง กิจของสงฆ์มีเพียงการดำรงชีพอย่างเรียบง่ายเท่านั้น เช่น การฉัน, การจำวัด, การดูแลตัวเอง, การซักจีวร-ย้อมเย็บจีวร ฯลฯ ไม่ใช่กิจของสงฆ์ที่จะพึงไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลก, เรื่องของผู้อื่นใด, เรื่องวิบากกรรมของใคร ฯลฯ ยกเว้นว่าได้รับกิจนิมนต์จากผู้อื่น แล้วตนได้รับกิจนิมนต์นั้น จึงกระทำได้ นับเป็นกิจของสงฆ์ได้ (หลังจากมีผู้นิมนต์แล้ว) แม้แต่ผู้สำเร็จ "พุทธะ" ก็ตาม หากไม่มีผู้นิมนต์ให้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่อาจกระทำได้ เพราะไม่ใช่กิจของพุทธะที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ จำต้องปล่อยวาง อุเบกขา อยู่เฉยๆ ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับระบบกรรมของผู้ใด ตัวอย่างเช่น พระพุทธเ้จ้า หลังตรัสรู้แล้วก็ทรงปล่อยวาง ไม่ได้คิดทำสิ่งใดๆ อีก จนเมื่อท้าวมหาพรหม ลงมาทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม โปรดสัตว์ ท่านจึงรับไว้เป็นกิจนิมนต์ เป็นกิจของสงฆ์ และสามารถกระทำกิจนั้นได้เหมือนการรับวิบากกรรมทั่วไป แต่ในที่นี้ เป็นการรับวิบากกรรมในรูปการกระทำกิจ เท่านั้นเอง อนึ่ง "พระอรหันตสาวก" ผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อบรรลุธรรมแล้ว ไม่มีผู้นิมนต์ให้แสดงธรรม ท่านก็จะไม่แสดงธรรม เพราะไม่ใช่กิจของท่าน ไม่ต่างอะไรกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งตรัสรู้แล้ว ก็ปลงตก อุเบกขา ปล่อยวาง แม้การแสดงธรรมโปรดสัตว์ ก็ทรงสิ้นอยาก สิ้นยึด ทว่า บางท่านคิดว่าตนบรรลุธรรมแล้วจึงออกโปรดสัตว์ แสดงธรรมมากมาย ก็มี ซึ่งนั่นไม่ใช่วิสัยอันแท้ของพระอรหันต์ ดังนั้น แม้แต่การเผยแพร่ธรรมะ, การสอนธรรมะ ก็ไม่ใช่กิจของสงฆ์ หากไม่มีผู้มานิมนต์ให้แสดงธรรมแล้ว ก็ย่อมไม่ใช่กิจของสงฆ์ การสอนธรรมนั้น เป็นแต่กิจของพราหมณ์ที่ยังมีอัตตาตัวตนแห่งความเป็น "ครู" เหลืออยู่ เท่านั้นเอง




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB