สัมมาสมาธิ

วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
สัมมาสมาธิ แปลว่า ความตั้งมั่นชอบ ประกอบด้วยคำสองคำคือคำว่า ๑. สัมมา ๒. สมาธิ โดยคำว่า สัมมา หมายถึง ความพอดีตรงต่อนิพพาน เป็นทางสายกลางที่ไม่มาก ไม่น้อย ไม่สุดโต่งเกินไป ส่วนคำว่า "สมาธิ" เป็นคำเฉพาะทางธรรมที่ไม่ถูกดัดแปลงไปใช้ทางโลกมากนัก หมายถึง จิตที่ผ่องใสรวมเป็นหนึ่งดีพ้นจากนิวรณ์ห้า ไม่ลังเล-หวาดระแวง, ไม่ฟุ้งซ่าน, ไม่หดหู่ซึมเซา, ไม่พุ่งไปสู่ความคิดเชิงบวกและลบ เช่น พยาบาท-ความเพลิดเพลินในกามต่างๆ มากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อยามได้ฟังธรรมอันตรงต่อนิพพานอย่างแท้จริง ก็จะเอื้อให้เกิดการบรรลุธรรมได้โดยง่าย อนึ่ง ในบุคคลที่มีสมาธิมากหรือน้อยเกินไป ไม่พอดี ไม่เป็นกลาง จะไม่เป็นธรรมชาติ กล่าวคือ บ้างก็สุดโต่งไปทางมีสมาธิน้อยเกินไป บ้างก็สุดโต่งไปทางมีสมาธิมากเกินไป จนไม่เป็นธรรมชาติ ไม่พอดี ไม่เป็นกลาง เคร่งครัดในสมาธิมากไป จมลงในฌานระดับสูงมากเกินไป จนขาดความสมดุลพอดี ระหว่างสมาธิและพละทั้งห้าประการตัวอื่นๆ อันส่งผลให้พละห้าไม่สมังคีกัน และทำให้ไม่อาจบรรลุธรรมได้ (หากสมาธิมาก พละตัวอื่นก็ต้องมากด้วย)


บุคคลที่มี "สัมมาสมาธิ" ย่อมมีสมาธิอย่างเป็นกลาง พอดี พอควรตรงต่อนิพพาน ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป ไม่สุดโต่งไปทางหย่อนยานหรือเคร่งตึงเกินไป อันจะช่วยให้เกิดปัญญา บรรลุธรรมโดยง่าย อนึ่ง สมาธิ นั้นไม่จำเป็นต้องเที่ยง หรือมีอยู่ตลอดเวลา บางครั้ง เราอาจจะมีสมาธิ แต่บางครั้งเราก็อาจจะมีนิวรณ์ ไม่มีสมาธิ ก็ได้ เพราะทั้งสมาธิและนิวรณ์ก็ล้วนไม่เที่ยง เราจึงไม่จำเป็นต้่องยึดมั่นถือมั่นทั้งสมาธิและนิวรณ์ ซึ่งเกิดดับ ไม่เที่ยงนั้น ในการบรรลุธรรมจึงไม่จำเป็นต้องมีสมาธิสูงมาก เพียงสมาธิชั่วขณะที่เรียกว่า "ขณิกสมาธิ" ก็สามารถบรรลุธรรมได้ หากพละทั้งห้าสมังคีกันดี และได้รับธรรมอย่างแท้จริง แต่หากพละทั้งห้า อันได้แก่ ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา ไม่พร้อมสมดุลกัน ก็ไม่อาจบรรลุธรรม เช่น บางท่านเน้นศรัทธามากเกินไป, บางท่านเน้นสติมากเกินไป, บางท่านเน้นสมาธิมากเกินไป ฯลฯ ทำให้ พละทั้งห้าไม่สมังคีกัน ก็ไม่อาจบรรลุธรรม ดังนั้น "สัมมาสมาธิ" จึงเป็นทางตรงนิพพานด้วยเหตุนี้



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB