บัวบาน

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
บัวบาน เป็นคำอุปมาอุปมัย ไม่มีในพระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์แต่ใช้เพื่ออธิบายถึงบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ "พร้อมบรรลุอรหันตผลทันที" อุปมาดั่งบัวที่บานอยู่ก่อนแล้วฉะนั้น ซึ่งตามพุทธประวัติในบางตำนานได้กล่าวถึง พระพุทธเจ้าครั้งที่ยังบำเพ็ญบารมีอยู่ ได้อธิษฐานเสี่ยงดอกบัวกับพระศรีอาริยเมตตรัยแล้วได้เลือกเอา "ดอกบัวบาน" ของพระศรีอาริยเมตตรัยไป อันบัวบานเหล่านี้่ ในภายหลังจึงนำไปสู่การโปรดสัตว์ที่พร้อมแล้วเต็มที่ดุจดั่งบัวบานฉะนั้น ถามว่า คำว่า "พร้อม" นั้นวัดที่ไหน? ในทางพุทธศาสนาจะวัดได้หลายแบบ เช่น ดูที่พละทั้งห้าเจริญดีพร้อมรับธรรมแล้ว เป็นต้น (พละทั้งห้าก็คือ ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา นั่นเอง) หรืออาจจะดู "กายในกาย" หรือ "จิตวิญญาณภายในสังขาร" ว่าพร้อมบรรลุธรรมเต็มที่หรือยัง? ก็จะดูว่า "กายในกาย" นั้น พัฒนาขึ้นถึง "ธรรมกาย" หรือยัง ด้วยธรรมกายนั้น สามารถรับรู้ได้ถึง "นิพพาน" หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ธรรมกายเป็นอายตนะนิพพาน นั่นเอง เมื่อบุคคลใดได้ธรรมกายแล้ว ย่อมรับรู้ถึงนิพพานได้ไม่ยากเลย แต่หากยังไม่ถึงซึ่งพระธรรมกาย ย่อมไม่อาจรับรู้ถึงนิพพานได้ จึงกล่าวได้ว่า "ผู้ได้ธรรมกาย" จึงเหมือน "บัวบาน" ฉะนั้น อนึ่ง ยังสามารถจำแนกบุคคลที่ได้ธรรมกาย หรือ "บัวบาน" เหล่านี้ ได้หลายแบบแตกต่างกันไปตามบุญบารมีที่แต่ละบุคคลเคยสร้างมา เช่น

๑. ธรรมกายแบบพระยูไล คือ จิตวิญญาณพัฒนาถึงพุทธะแล้ว มีญาณหยั่งรู้ได้ด้วยตนเองแล้ว รอแต่ต่อสายธรรมจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น เหมือนดอกบัวบานแล้ว รอแต่เพียงแสงอาทิตย์ (แสงธรรม) เท่านั้น

๒. ธรรมกายแบบวัชรกาย คือ จิตวิญญาณพัฒนาถึงขั้นใสบริสุทธิ์ดุจเพชรแล้ว ไม่ใช่แค่ใสเหมือนแก้วเท่านั้น แต่จะเปล่งประกายสีรุ้งดุจเพชรด้วย อนึ่ง วัชรกายมีทั้งแบบพุทธะและแบบที่ไม่ใช่พุทธะ

๓. ธรรมกายแบบมโนธาตุ คือ จิตวิญญาณพัฒนาถึงขั้นเหลือแต่มโนธาตุบริสุทธิ์ วิญญาณขันธ์นิพพานไปก่อนแล้ว เหลือจิตสว่างไสวดุจดาวประกายแสง บางท่านเห็นแล้วเรียกว่า "พระเจ้าแสงแห่งธรรม" ก็มี


อนึ่ง ธรรมกายแบบอรหันตสาวกนั้นไม่มีั กล่าวคือ จิตวิญญาณที่พัฒนาถึงขั้นเหมือนกับอรหันตสาวกแล้วระดับหนึ่งนั้นไม่อาจมีญาณหยั่งรู้ถึงนิพพานได้เองเรียกว่า "ไม่มีอายตนะนิพพาน" จึงต้องรอพระพุทธเจ้ามาโปรดโดยตรงหรือพระอรหันตสาวกรูปอื่นมาต่อสายธรรมให้ เท่านั้น ก็จะบรรลุธรรมเป็นอรหันตสาวก ปกติ จะมีกายทิพย์สีทอง ทั้งนี้ ในทางพุทธศาสนามีคำศัพท์ว่า "ธรรมกาย" ใช้เรียกถึงกายในกายที่มีพัฒนาการสูงถึงขั้น "ธรรมกาย" แต่ไม่ค่อยนิยมนำมาเรียกตัวบุคคล ส่วนคำว่า "บัวบาน" นั้น มีใช้เรียกตัวบุคคลบ้างเช่น "ภิกษุบัวบาน" ก็หมายถึงถิกษุรูปนั้นได้ "ธรรมกาย" แล้วนั่นเอง เช่น ครั้งที่พระพุทธเจ้าโปรดพระมหากัสสปะ ท่านไม่ได้กล่าวธรรมใด เพียงยกดอกบัวบานขึ้นเท่านั้น พระมหากัสสปะก็บรรลุธรรมได้ (ตามตำราของฝ่ายมหายาน แต่ตำราของเถรวาทไทยครั้งเขียนใหม่หลังสังคายนาพระไตรปิฎกยุครัตนโกสิน เขียนต่างออกไป) อนึ่ง การแสดงธรรมผ่านภาษาต่างๆ เป็นเครื่องสร้างความมั่นใจและสุตมยปัญญาให้แก่ผู้ฟังเท่านั้น แต่ธรรมแท้นั้นไร้คำอธิบาย ไร้ตัวอักษร ภาษาใดๆ จะอธิบายได้ รับรู้ได้จากจิตสู่จิต เท่านั้น



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB