สัมมาวายามะ

วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
สัมมาวายามะ แปลว่า "ความเพียรชอบ" แต่แปลแบบนี้แล้วไม่ชัดเจน ไม่ละเอียด ทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปมาก อย่างแรก ความเพียร กับ ความพยายาม ก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเราทำงานอย่่างสม่ำเสมอไม่ได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ขาดตกบกพร่อง แสดงว่าเรามีความเพียร แต่เราไม่มีความพยายาม เมื่อใดที่เราทำงานให้มากขึ้น ได้มากขึ้น นั่นคือ เรามีความพยายาม แต่ถ้าขาดความต่อเนื่อง เช่น พยายามอย่างยิ่งเป็นช่วงๆ บางช่วงก็เลิก, หยุด, พัก ฯลฯ อย่างนี้เรียกว่ามีความพยายาม แต่ขาดความเพียร ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นความหมายทางโลก เท่านั้นเอง ยังไม่ใช่ "สัมมาวายามะ" เลย การแปลความหมายของศัพท์ธรรมะให้เป็นศัพท์ทางโลกว่า "ความเพียรชอบ" จึงกลายเป็นความเข้าใจระดับทางโลกไป แทนที่จะเป็นระดับทางธรรม ตรงกับความหมายที่แท้จริงของคำว่า "สัมมาวายามะ"


คำว่า "สัมมาวายามะ" หมายถึง ความเพียรอันพอดีตรงต่อนิพพาน ไม่มากเกินไป ไม่หย่อนยานเกินไป เรียกว่า "ทางสายกลาง" แต่ตรงต่อนิพพาน ในบางคนมีความเพียรมากเกินไป ทำให้ไม่ตรงต่อนิพพานก็มี เช่น เพียรในการทำสมาธิ, เจริญฌานมาก ยิ่งทำมาก ยิ่งเกิดกรรม (ดี) มาก ส่งผลให้เกิดชาติภพมาก ยิ่งห่างไกลนิพพานมาก เช่นนี้ เรียกว่า "ความเพียรชอบ" ได้ (ความเพียรในทางที่ชอบ) แต่ไม่ใช่ "สัมมาวายามะ" พอเห็นความแตกต่างของความหมายทั้งสองนี้แล้วนะครับ ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าสอนให้ภิกษุรูปหนึ่งไปเพ่งกสิณด้วยดอกบัวทอง ไม่ทันที่จะสอนให้เขาได้ฌานไปมากขึ้น ครบถ้วนอะไรเลย ท่านก็ทรงอธิษฐานให้ดอกบัวเหี่ยวลงตอนที่ภิกษุรูปนั้นกำลังมีสมาธิดี ผลปรากฏว่าเขาได้บรรลุธรรมทันที ด้วยเห็นอนิจจัง นั่นเอง นี่แหละ ความเพียรพอดี ตรงต่อนิพพาน ไม่ใช่ขยันมากเหลือเกิน เพื่อให้ได้ฌาน ได้ญาณ อะไรมากมาย นั่นเกินพอดี ไม่ตรงต่อนิพพาน บางท่่านไม่ยอมทำอะไรเลย เพราะคิดว่ามันมีกรรม นั่นเขาก็มีความเพียรมากในศีล ลดละกรรม แต่มากเกินไป ถ้าไม่ทำหน้าที่ตาม "สัมมาอาชีวะ" เลย ก็จะไม่ได้ชดใช้กรรม ห่างไกลนิพพานได้เหมือนกัน นี่เรียกว่า่ "เพียรมากเกินไปในศีล" นั่นเอง



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB