สัมมาอาชีวะ

วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
สัมมาอาชีวะ โดยทั่วไปมักแปลว่่า "อาชีพชอบ" แต่คำแปลนี้ไม่ชัดเจนและไม่ครอบคลุม เช่น บางท่านไม่มีอาชีพ จะมีสัมมาอาชีวะได้หรือไม่? คำตอบคือ "มีได้" เนื่องจาก คำว่า "อาชีวะ" นั้น แต่เดิมไม่ได้แปลว่า "อาชีพ" เป็นศัพท์ธรรมเก่าแก่ที่ถูกทางโลก เอาไปใช้แปลว่า "อาชีพ" ในภายหลังเท่านั้นเอง ที่จริงแล้ว "อาชีวะ" นั้นมีความหมายกว้างกว่าคำว่า "อาชีพ" กล่าวคือ หมายถึง "ภาระกิจ, หน้าที่" ของแต่ละบุคคล อันพึงมี และพึงกระทำอยู่เป็นนิตย์ เช่น หน้าที่ต่อตนเอง, หน้าที่ต่อครอบครัว, หน้าที่ต่อสังคม ฯลฯ เป็นต้น หน้าที่เหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นอาชีพใดๆ เลย ตรงกันข้าม หลายคนมีอาชีพที่ดีในทางโลก แต่ไม่ใช่ "สัมมาอาชีวะ" ในทางธรรมเลยก็ได้ เช่น เป็นหมอ เวลาเห็นคนได้รับอุบัติเหตุตรงหน้า เขาอาจไม่ทำหน้าที่ของมนุษย์, หน้าที่ต่อสังคม เพราะคิดว่า เขากำลังรีบไปโรงพยาบาล ไปทำงานตามอาชีพของเขา ปล่อยให้คนอื่นช่วยเหลือกันไป ตนก็ตรงไปโรงพยาบาลโดยไม่สนใจเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับอุบัติเหตุตรงหน้านั้น อย่างนี้ เรียกว่า ไม่ทำหน้าที่ของมนุษย์ จึงไม่มี "อาชีวะ" มีแต่ "อาชีพ" ทางโลกเท่่านั้น ส่วนคำว่า "สัมมา" นั้น หมายถึง มรรคหรือทางอันชอบแล้วด้วยความพอดี พอควร ตรงทางนิพพาน เมื่อรวมกับ "อาชีวะ" จึงหมายถึง การประกอบกิจอันพอดี พอควร สมแก่ฐานะตน สมแก่หน้าที่แห่งความเป็นมนุษย์, หน้าที่ต่อตนเอง, หน้าที่ต่อครอบครัว, หน้าที่ต่อสังคม, หน้าที่ต่อผู้อื่น ฯลฯ เป็นต้น


ดังนั้น การที่พระภิกษุเป็นผู้ไม่มีอาชีพทางโลก แต่ได้ทำหน้าที่ของตน อันสมควรแก่ฐานะแล้ว จึงนับว่ามี "อาชีวะ" ได้ ในบางกรณี บางท่านอาจต้องทำอาชีวะที่ก่อให้เกิดกรรม หรือผิดศีลก็มี เช่น หากเป็นทหารก็ต้องทำสงคราม ต้องเข่นฆ่ากัน เป็นต้น ถามว่า เช่นนี้แล้ว ทหารจะมี "อาชีวะ" ได้อย่างไร? คำตอบคือ มีได้เมื่อเขาได้ทำหน้าที่ของเขาแล้ว นั่นเอง และจัดเป็นการกระทำอาชีวะแบบ "สัมมา" หรือไม่? ก็อาจเป็นได้ ถ้าเขาทำแต่พอดี พอควร เช่น กระทำไปโดยวิบาก ถูกสั่งให้ทำ ทั้งๆ ที่ไม่อยากทำ ไม่อยากก่อกรรม ทำไปโดยไม่มีเจตนาอยากจะทำ ทำไปอย่างนั้นเอง อนึ่ง อาชีพทางโลกนั้น ตอบสนองต่อความต้องการของทางโลก ไม่ได้ตอบสนองต่อทางธรรม ดังนั้น การมีอาชีพทางโลก จึงยากที่จะนับเป็นสัมมาอาชีวะได้ อาชีพทางโลกที่พอจะนับเป็นสัมมาอาชีวะได้ จึงมักตอบสนองต่อทางโลกน้อย เช่น อาชีพเก็บขยะขาย, ร้อยมาลัยขาย, เกษตรไร้สาร (แบบดั้งเดิม) ซึ่งไม่ได้มีรายได้หรือเด่นดังในทางโลกมากนัก เป็นต้น



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB