สัมมาสังกัปปะ

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
สัมมาสังกัปปะแปลว่า "การดำริชอบ" หมายถึงการตั้งเจตนาในการคิด, พูด, กระทำที่พอดีตรงต่อนิพพาน บางท่านไปแปลว่าเป็นความนึกคิดอันชอบ ซึ่งไม่ตรงนัก เพราะความนึกคิดในทางโลก จำแนกเป็นธรรมในทางธรรมได้หลายประการ เช่น ความนึกคิดที่เป็นสัญญาขันธ์ ความจำได้หมายรู้ ระลึกขึ้นมาในใจ ก็มี, ความนึกคิดที่ฟุ้งซ่านไปด้วยนิวรณ์ห้า ก็มี, ความนึกคิดอันเกิดจากเครื่องร้อยรัดพัวพันด้วย "อุทธัจจะ" ก็มี, ความนึกคิดแบบจินตนาการจนเิกิดปัญญาระดับกลางที่เรียกว่า "จินตนมยปัญญา" ก็มี, ความนึกคิดได้มาจาก "ความคิดเห็น" อันเป็นสัมมาทิฏฐิ ก็มี, มิจฉาทิฏฐิ ก็มี ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนจัดเป็น "ความนึกคิด" ในทางโลกทั้งสิ้น แต่ในทางธรรมแล้วความนึกคิดเหล่านี้ ยังไม่จัดเป็น สัมมาสังกัปปะ อนึ่ง สัมมาสังกัปปะ นั้น ประกอบไปด้วย "เจตนา" ในระดับจิต เช่น การที่คนมีดำริจะทำอะไรบางอย่าง แต่ยังไม่ได้ทำ แ่ค่ดำริเฉยๆ คือ มีเจตนาจะทำแล้วแต่ยังไม่ได้ทำ หรือทำแล้วยังไม่เกิดผล เป็นต้น นี่จึงเรียกว่า "ดำริ" ไม่ใช่แค่ความนึกคิดทั่วไป ดังนั้น เมื่อมีเจตนาแล้วก็มีกรรมด้วย หากกรรมนั้นไม่มาก เบาบาง ชำระหมดได้ในชาติเดียว ความดำรินั้นก็ยังไม่ขัดขวางนิพพาน แต่หากความดำรินั้น ส่งผลให้ต้องได้รับวิบากกรรมไปอีกมากหลายชาติ เช่น ดำริที่จะทำพระเจดีย์บรรจุพระธาตุ จะส่งผลให้ได้รับผลบุญไปอีกอย่างน้อย ๕๐๐ ชาติ นี่ไม่จัดเป็น "สัมมาสังกัปปะ" เพราะไม่เอื้ออำนวยตรงสู่นิพพาน แต่หากดำริปลูกผักกินเอง ก่อกรรมไม่มาก ใช้หมดได้ในชาติเดียว อันนี้ จัดเป็นสัมมาสังกัปปะได้ อนึ่ง เมื่อบุคคลมีความคิดเห็นตรงต่อธรรมแบบที่เรียกว่า "สัมมาทิฏฐิ" แล้ว หากจะตั้งเจตนาทำกรรมอะไรก็แล้วแต่ ทั้งการทำกรรมทางกายกรรม, วจีกรรม, มโนกรรม แล้วตรงต่อนิพพานได้ คือ ไม่มากเกินไป ก็จัดเป็น "สัมมาสังกัปปะ" ได้ ส่วนนี้ ควรแยกแยะให้ชัดเจน คือ สัมมาทิฏฐิ กับ สัมมาสังกัปปะ เป็นธรรมคนละตัวกัน ตัวแรกเพียงแค่มีความคิดเห็นน้อมไปในทางไหน ตรงต่ออะไร น้อมตรงต่อธรรมหรือไม่? เท่านั้นเอง ตัวที่สอง เป็นเรื่องการตั้งเจตนาที่จะกระทำสิ่งใดๆ ซึ่งเริ่มจะมีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่คือข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง สัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปปะ


ในพระโสดาบัน จะเป็นผู้มีมรรคแปด ๕ ตัวแรก ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ แม้ว่าพระโสดาบันจะยังไม่รีบนิพพาน และยังไม่สามารถหลุดพ้นจากกิเลสได้ ทว่า บางท่านพยายามแปลความหมายของคำว่า "สัมมาสังกัปปะ" ให้ล้นเกินความหมายที่แท้จริงไป โดยใช้ความหมายว่า "สัมมาสังกัปปะคือดำริชอบ หมายถึง ดำริที่จะออกจากกามและพยาบาท" ซึ่งเป็นการแปลที่เกินความหมายไป เพราะในพระโสดาบันนั้น มีสัมมาสังกัปปะด้วย แต่ท่านก็ไม่จำเป็นต้องมีเจตนาที่จะต้องออกจากกิเลส ท่านมีจิตตรงต่อนิพพานแล้ว แต่ยังไม่รีบนิพพานอยู่กับกิเลสได้ต่อไป ส่วนอริยบุคคลที่มีดำริออกจากกามและพยาบาทนั้นคือ "พระสกิทาคามี" การแปลความหมายคำว่า "สัมมาสังกัปปะ" จึงควรแปลควบคู่ไปกับคำสามคำนี้คือ "สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ" หรือ การดำริ, การพูด, การกระทำ อันตรงต่อนิพพาน นั่นเอง (มโนกรรม, วจีกรรม, กายกรรม) ซึ่งจะทำให้เข้าใจชัดเจนมากกว่า



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB