สุญญตา

วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
สุญญตา คือ ธรรมชาติหนึ่งอันไม่เที่ยง, ไม่ใช่ตัวตน, ไม่อาจยึดมั่นถือมั่นได้ตลอดไป ซึ่งมีลักษณะ "ว่าง" จากใดๆ ทั้งปวง บางท่านแปลง่ายๆ ว่า "ความว่าง" ก็ใช้ได้เหมือนกัน ซึ่งความว่างหรือสุญญตานี้ยังไม่ใช่ "นิพพาน" เพียงแต่สุญญตาเ็ป็นธรรมฝ่ายตรงข้ามกับความมี ใช้เป็นเครื่องแก้คนที่มีเยอะ, มีมาก, ล้นเกินไป เช่น คนที่มีความรู้ทางธรรมมากเกินไปแต่ไม่ได้เกิดปัญญา หลงตัวเองอยู่ด้วยเพราะความรู้มาก หรือรู้เยอะนั้น บางท่านจะแนะนำให้ใช้ "สุญญตา" เป็นเครื่องแก้ เพื่อให้เข้าสู่ความพอดี, ตรงทาง, สายกลาง ก็จะตรงต่อสัจธรรมความจริงอันเป็นกลาง มีจิตแน่วแน่ตรง, อุเบกขาในธรรมได้ แต่บางท่านก็เอนเอียงไปทางฝ่าย "ความว่างหรือสุญญตา" มากเกินไป ก็มี เหมือนคลั่งใคล้สุญญตามากเกินไป ทำให้จิตเอนเอียงไปทางความว่าง ทั้งฝ่ายที่มีจิตเอนเอียงไปทางความว่างและความมี ล้วนแต่ขาดซึ่งอุเบกขาทั้งสิ้น การที่ใช้ "ความว่าง" เป็นเครื่องแก้ธรรมแ่ห่ง "ความมีมากล้น" นั้น เพื่อให้จิตตรงทาง, ตรงธรรม เกิดอุเบกขา เท่านั้นเอง ไม่ใช่ให้ยึดมั่นถือมั่น จนจิตเอนเอียงไปทางสุญญตา เห็นธรรมชาติ, สมมุติใดๆ ก็เหมารวมไปง่ายๆ ว่า "เป็นความว่างทั้งหมด" อะไรก็ว่างหมด เป็นต้น อนึ่ง ธรรมชาติที่ประกอบกันเป็น "รูป" ทั้งหลาย ล้วนมาจาก "มหาภูติรูปสี่" คือ ธาตุดิน, น้ำ, ลม, ไฟ อันผสมกันอยู่ไม่อาจแยกจากกันได้ แท้แล้วก็คือหนึ่งเนื้อเดียวกัน เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ถูกมองต่างมุมไปเท่านั้นเอง เหมือนเหรียญสองด้าน ทุกด้านก็คือเหรียญเดียวกัน ทว่า "ความว่าง" นี้ เป็น "ธาตุ" ตรงข้าม เป็นพื้นฐานของการมีธาตุทั้งสี่ รองรับการดำรงอยู่ของธาตุทั้งสี่ไว้ และมีลักษณะตรงข้ามกับธาตุทั้งสี่ สามารถเปลี่ยนกลับไปมาระหว่าง "ความว่าง" และ "มหาภูติรูปสี่" ได้ ด้วยเพราะทั้ง "ความว่าง" และ "มหาภูติรูปสี่" ล้วนไม่เที่ยง, ไม่จีรัง และเป็นสิ่งตรงข้ามกัน


ดังนั้น "มหาภูติรูปสี่" (ธาตุทั้งสี่) จะอยู่่ร่วมกันเสมอ ไม่อาจแยกออกจากกันได้ ถ้าเกิดก็เกิดด้วยกัน ถ้าดับก็ดับด้วยกัน บางท่านพิจารณาธาตุสี่เพียงธาตุใดธาตุหนึ่ง ธาตุเดียว หรือเจริญธาตุใดธาตุหนึ่งเพียงธาตุเดียว คิดว่าจะสามารถทำให้จีรังยั่งยืนได้ เช่น เจริญธาตุน้ำทำใจให้เย็น สุดท้าย เมื่อความจริงแห่งการอยู่ร่วมกันของมหาภูติรูปสี่ปรากฏ ก็คิดว่าเป็น "อาการธาตุไฟเข้าแทรก" แท้แล้ว ไม่มีอะไรแทรกอะไร ด้วยมหาภูติรูปสี่นี้ เป็นหนึ่งเดียวกันอยู่แล้ว เหมือนกล่องที่มีหลายด้าน เมื่อใดเจริญด้านใดด้านหนึ่งมาก แม้ด้านที่ไม่เจริญ จะเบาบางจนแทบไม่อาจสังเกตุเห็นได้ แต่ก็ไม่ดับสูญไป รอวันที่จะพลิกกลับมาเจริญได้ดังด้านอื่นๆ เช่นกัน จนเืมื่อมหาภูติรูปสี่ดับสิ้นหมดแล้ว จึงจะกลายเป็น "ความว่าง" กลับไปมาเช่นนี้ ไม่ใ่ช่นิพพาน ด้วยเพราะยังวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ คือ "วังวนแห่งการเกิด-ดับ" ก็ต่อเมื่อ ไม่ใช่ทั้งเกิด ไม่ใ่ช่ทั้งดับ หลุดพ้นแล้วทั้ง "มหาภูติรูปสี่" และ "ความว่าง" (สุญญตา) แล้ว นั่นแหละ จึงแจ้งถึงซึ่ง "นิพพาน"



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB