เจโตวิมุติ

วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
เจโตวิมุติ หมายถึง การบรรลุธรรมโดยจิตเข้าถึงเป็นสำคัญ ซึ่งย่อมมีปัญญาแจ้งในธรรม ในนิพพานด้วย กล่าวคือ ทั้งการบรรลุธรรมแบบปัญญาวิมุติ ก็ดี, เจโตวิมุติ ก็ดี ล้วนย่อมมีปัญญาแจ้งในธรรม ในนิพพาน ทั้งสิ้น เพียงแต่การบรรลุธรรมแบบ "เจโตวิมุติ" นั้น จะมีเรื่องของ "จิตเข้าถึง" เพิ่มเติมขึ้นมาด้วย กล่าวคือ จิตของผู้ที่บรรลุธรรมแบบเจโตวิมุติย่อมเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ด้่วยตนเอง เหมือนมีปัญญาแจ้งเมื่อคนกล่าวว่าเกลือเค็มอย่างไร ในขณะเดียวกันก็ได้ชิมรสเกลือด้วยตนเองด้วย ในบางท่าน มีจิตพร้อมหยั่งได้ถึงนิพพานแล้ว แต่ด้วย "สักกายทิฐิ" ยังขวางกั้นไว้อยู่ เมื่อยอมจำนนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว คือ มาขอบวชในพระพุทธศาสนา ยังไม่้ได้รับฟังธรรม เพียงปลงผมหรือห่มผ้าจีวรก็บรรลุอรหันตผลได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะจิตของเขาหยั่งถึงนิพพานได้เอง อุปมาเหมือนดอกบัวบานแล้วฉะนั้น อนึ่ง พึงเข้าใจว่าท่านที่สำเร็จธรรมแบบเจโตวิมุตินั้นจำต้องอาศัยผู้มีบารมีธรรมมากกว่าในการช่วยทำลายสักกายทิฐิให้ตนเอง เช่นกัน แม้มีญาณหยั่งรู้ถึงนิพพานได้เอง แต่ตราบใดที่ยังมี "สักกายทิฐิ" อยู่ ก็ยังไม่อาจบรรลุธรรมได้


อนึ่ง พระอรหันต์ผู้บรรลุธรรมแบบเจโตวิมุตินั้น หากพิจารณาจากจิต ย่อมอบรมจิตถึงขั้น "อธิจิต" หากพิจารณาจากกายในกาย ย่อมสำเร็จถึงขั้น "ธรรมกาย" หากพิจารณาจากอายตนะรับรู้ ย่อมมี "อายตนะนิพพาน" หากพิจารณาจากวิญญาณขันธ์ ย่อมเห็นเป็นผู้สำเร็จ "พุทธะ" เข้าถึงพุทธสภาวะได้ด้วยตนเอง ทางมหายานมีคำเรียกพระอรหันต์เจโตวิมุติ ใช้่แตกต่างออกไปเช่น เรียกว่า "อนุพุทธะ" ก็มี, "พุทธสาวก" ก็มี, "ยูไล" ก็มี ทิเบตถึงกับเรียกว่า "พระพุทธเจ้าองค์ที่สอง" หรือองค์ต่อๆ มาก็มี ซึ่งทำให้หลายท่านเกิดความสับสนเพราะภัทรกัปหนึ่งมีพระพุทธเจ้าทั้งสิ้นห้าพระองค์ก็จริง แต่ในยุคสมัยหนึ่งของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ย่อมมีพระพุทธเจ้าเพียง ๑ พระองค์เดียวเท่านั้น แต่ด้วยวัฒนธรรมและจารีตประเพณีที่ต่างกันไป อาจทำให้มีการใช้คำเรียกที่แตกต่างกันได้ ขอให้ท่านเข้าใจว่าคือ "เจโตวิมุติ" นั่นเอง



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB