รสมังสะ

วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
รสมังสะ หมายถึง รสชาติอาหารที่อร่อยผิดปกติ เช่น ผักมีรสเหมือนเนื้อ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เป็นสัญญาณเตือนท่านว่าจะปรินิพพานในไม่ช้าแล้ว และอาหารมื้อนี้ "เป็นมื้อสุดท้าย" ถ้าจะทรงขันธ์ต่อไปอีกหน่อย ก็จะต้องไม่ฉันอะไรอีก หรือฉันอะไรไม่ได้อีกเลย ซึ่งในวันนั้น ท่านจะสุขมาก เรียกว่า "บรมสุข" ถึงขนาดฉันผักก็มีรสเหมือนเนื้อได้เลย เรียกว่ากินอะไรก็อร่อยพิเศษ ไม่เหมือนทุกวัน ผิดสังเกตุ จนสงสัยและสติตื่นขึ้น ปัญญาสว่าง สัพพัญญูญาณทำงาน ทำให้ทราบว่า "นี่คือ อาหารมื้อสุดท้าย" ดังนั้น คำว่า "รสมังสะ" จึงไม่ใช่ "มังสาหาร" หรือ "มังสะ" ที่แปลว่าเนื้อโดยตรง ถ้าผู้เขียนจะใช้คำว่าเนื้อ ก็จะใช้คำว่า "มังสะ" หรือ "มังสาหาร" แทน แต่นี่เป็นคำว่า "รสมังสะ" จึงไม่ใช่ทั้งสองอย่าง คือ ไม่ใช่เนื้อ แต่มีรสอร่อยราวกับกินเนื้อจริงๆ นั่นแหละ เพราะจิตสุขมาก บรมสุข กำลังจะปรินิพพานแล้วนี่เอง เลยเป็นเ่ช่นนี้ กินผักก็อร่อยเหมือนเนื้อไปได้ แปลกจริง ทำให้สังเกตุตัวเองได้ เป็นสัญญาณบ่งบอกได้ ดังกล่าว ถ้าเป็นเนื้อปกติในมื้อสุดท้าย มันก็ไม่ผิดปกติ มันก็ไม่เป็นสัญญาณ ลางบอกเหตุอะไรได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่เนื้อปกติ หรือผักปกติ แต่เป็น "รสที่ผิดไปจากปกติ" อร่อยมาก บรมสุขมาก เพราะใกล้จะปรินิพพานแล้ว มิแหล่ มันก็จะสุขมากๆๆ บรมสุขอย่างนี้แหละ ซึ่งจะมีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทราบได้ ในพระอรหันตสาวกทั่วไป ไม่รู้ ไม่มีแบบนี้เลย และเป็นสัพพัญญูญาณอีกนั่นแหละ ที่จะทราบเช่นนี้ได้


คำว่า "รสมังสะ" ปรากฏอยู่ในเนื้อหาส่วนที่พระพุทธเจ้า จะปรินิพพาน ความว่า ...

เรื่องธรรมดาของพระพุทธเจ้า บัดนี้ เราจะประกาศธรรมดาทั่วไปของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ธรรมดาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ มี ๓๐ ถ้วน คือ

๑. พระโพธิสัตว์ผู้มีภพสุดท้าย มีสัมปชัญญะรู้ตัว ลงสู่พระครรภ์ของพระชนนี
๒. พระโพธิสัตว์นั่งขัดสมาธิในพระครรภ์ของพระชนนีหันพระพักตร์หันพระพักตร์ออกไปภายนอก
๓. พระชนนีของพระโพธิสัตว์ยืนประสูติ
๔. พระโพธิสัตว์ออกจากพระครรภ์พระชนนีในป่าเท่านั้น
๕. พระโพธิสัตว์วางพระบาทลงบนแผ่นทอง หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ย่างพระบาท ๗ ก้าว เสด็จไปตรวจดู ๔ ทิศแล้วเปล่งสีหนาท
๖. พระมหาสัตว์ พอพระโอรสสมภพ ก็ทรงเห็นนิมิต ๔ แล้วออกมหาภิเนษกรมณ์
๗. พระมหาสัตว์ ทรงถือผ้าธงชัยแห่งพระอรหันต์ ทรงผนวช ทรงบำเพ็ญเพียรกำหนดอย่างต่ำที่สุด ๗ วัน
๘. เสวยข้าวมธุปายาส ในวันที่ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณ
๙. ประทับนั่งเหนือสันถัตหญ้าบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
๑๐. ทรงบริกรรมอานาปานัสสติกัมมัฏฐาน
๑๑. ทรงกำจัดกองกำลังของมาร
๑๒. ณ โพธิบัลลังก์นั่นเอง ทรงได้คุณมีอสาธารณะญาณ ตั้งแต่วิชชา ๓ เป็นต้นไปเป็นอาทิ
๑๓. ทรงยับยั้งใกล้โพธิพฤกษ์ ๗ สัปดาห์
๑๔. ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาเพื่อให้ทรงแสดงธรรม
๑๕. ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนะ มิคทายวัน
๑๖. ในวันมาฆบูรณมี ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในที่ประชุมสาวกประกอบด้วยองค์ ๔
๑๗. ประทับอยู่ประจำ ณ ที่พระวิหารเชตวัน
๑๘. ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ใกล้ประตูกรุงสาวัตถี
๑๙. ทรงแสดงพระอภิธรรม ณ ภพดาวดึงส์
๒๐. เสด็จลงจากเทวโลก ใกล้ประตูสังกัสสนคร
๒๑. ทรงเข้าผลสมาบัติต่อเนื่องกัน
๒๒. ทรงตรวจดูเวไนยชน ๒ วาระ
๒๓. เมื่อเรื่องเกิดขึ้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบท
๒๔. เมื่อเหตุต้นเรื่องเกิดขึ้น จึงตรัสชาดก
๒๕. ตรัสพุทธวงศ์ในสมาคมพระประยูรญาติ
๒๖. ทรงทำปฏิสันถารกับภิกษุอาคันตุกะ
๒๗. พวกภิกษุจำพรรษาแล้วถูกนิมนต์ ไม่ทูลบอกลาก่อน ไปไม่ได้
๒๘. ทรงทำกิจก่อนและหลังเสวย ยามต้น ยามกลางและยามสุดท้ายทุกๆ วัน
๒๙. เสวยรสมังสะ ในวันปรินิพพาน
๓๐. ทรงเข้าสมาบัติยี่สิบสี่แสนโกฏิสมาบัติแล้วจึงปรินิพพาน.
ธรรมดาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์มี ๓๐ ถ้วนดังกล่าวมาฉะนี้. 


อนึ่ง พระพุทธเจ้าสมณโคดม เข้าสมาบัติไม่ถึง "ยี่สิบสี่แสนโกฏิสมาบัติ" ด้วยพระอนุรุทธ นับได้เพียงไม่กี่สมาบัติเท่านั้น ดังนั้น ท่านจึงยังไม่ได้ "อนุปาทิเสสนิพพาน" (นิพพานทั้งหมด) ท่านจึงกระทำเพียง "สอุปาทิเสนิพพาน" (นิพพานบางส่วน) เท่านั้น และจะทรงกระทำ "พระธาตุนิพพาน" ในส่วนที่เหลือในวันสิ้นสุดพุทธกาล ๕,๐๐๐ ปี เป็นปาฏิหาริย์ครั้งสุดท้ายต่อเหล่าเทวดา (แต่มนุษย์จะไม่เห็น) ดังข้อมูลอ้างอิงตาม มหาปรินิพพานสูตร ว่าด้วยมหาปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เล่มที่ ๑๐ ชื่อทีฆนิกาย มหาวัคค์ เป็นพระสุตตันตปิฎก (เล่ม ๒) ๓. ความบางส่วนว่า 



ลีลาในการปรินิพพาน
   ครั้นแล้วทรงเข้าฌานที่ ๑ ออกจากฌานที่ ๑ เข้าสู่ฌานที่ ๒ เป็นลำดับไปจนครบรูปฌาน ( ฌานมีรูปเป็นอารมณ์ ) ๔ อรูปฌาน ( ฌานมีสิ่งมิใช่รูปเป็นอารมณ์ ) ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ ( สมาบัติที่ดับสัญญาความกำหนดหมาย และเวทนา ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข ) .    ต่อจากนั้นทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ ย้อนกลับเข้าสู่อรูปฌานที่ ๔ ( คล้ายกับออกจากตึกชั้นที่ ๙ ย้อนลงสู่ชั้นที่ ๘ ) โดยนัยนี้ ทรงย้อนกลับไปถึงฌานที่ ๑ ออกจากฌานที่ ๑ เข้าสู่ฌานที่ ๒ เรื่อยไปจนถึงฌานที่ ๔ เมื่อออกจากฌานที่ ๔ แล้วก็ปรินิพพาน ( เป็นการไม่ติดในรูปฌานหรือในอรูปฌาน เพราะนิพพานในระหว่างแห่งรูปฌานและอรูปฌาน ) .
    เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ก็เกิดแผ่นดินไหว และมีหลายท่านกล่าวภาษิตในทางธรรม เหตุการณ์นี้ยังความโศกสลดให้เกิดแก่ภิกษุผู้ยังไม่ปราศจากราคะ และยังธรรมสังเวชให้เกิดแก่ภิกษุผู้ปราศจากราคะแล้ว.

และอ้างอิงตาม "อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค พหุธาตุกสูตร" บางส่วน ความว่า

... ปรินิพพาน ๓ 

ชื่อว่า ปรินิพพานมี ๓ คือ 

กิเลสปรินิพพาน 
ขันธปรินิพพาน 
ธาตุปรินิพพาน. 

ในปรินิพพาน  ๓ อย่างนั้น กิเลสปรินิพพานได้มีแล้ว ณ โพธิบัลลังก์ ขันธปรินิพพานได้มีแล้ว ณ เมืองกุสินารา ธาตุปรินิพพาน จักมีในอนาคต พระธาตุเสด็จมาชุมนุมกัน ได้ยินว่า ในคราวพระศาสนาจะเสื่อม พระธาตุทั้งหลายจะเสด็จชุมนุมกันที่เกาะลังกานี้ แล้วเสด็จไปยังมหาเจดีย์ จากมหาเจดีย์เสด็จไปยังราชายตนเจดีย์  ในนาคทวีป จากราชายตนเจดีย์ เสด็จไปยังมหาโพธิ์บัลลังก์. พระธาตุทั้งหลาย จากนาคพิภพก็ดี จากเทวโลกก็ดี จากพรหมโลกก็ดี จักเสด็จไปยังมหาโพธิบัลลังก์เท่านั้น. พระธาตุแม้ขนาดเมล็ดพันธุ์ผักกาด. จักไม่หายไปในระหว่าง ๆ กาล. พระธาตุทั้งหมด (จะรวม)เป็นกองอยู่ที่มหาโพธิบัลลังก์ เป็นแท่งเดียวกันเหมือนแท่งทองคำเปล่งพระฉัพพรรณรังสี (รัศมีมีสี ๖ ประการ) พระฉัพพรรณรังสีทั้งหลายนั้นจักแผ่ไปทั่วหมื่นโลกธาตุ. แต่นั้น เทวดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาล จักประชุมกันแสดงความการุณย์อย่างใหญ่ ยิ่งกว่าในวันเสด็จปรินิพพานของพระทศพลว่า วันนี้พระศาสดาจะเสด็จปรินิพพาน วันนี้พระศาสนาจะเสื่อม นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้ายของพวกเรา ณ กาลนี้. เว้นพระอนาคามี และพระขีณาสพ พวกที่เหลือไม่อาจดำรงอยู่ตามสภาวะของตนได้. เตโชธาตุลุกขึ้นในพระธาตุทั้งหลาย แล้วพลุ่งขึ้นไปจนถึงพรหมโลก. เมื่อพระธาตุแม้มีประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดยังมีอยู่ ก็จักมีเปลวเพลิงติดอยู่เปลวหนึ่ง เมื่อพระธาตุทั้งหลายหมดไป เปลวเพลิงก็มอดหมดไป. เมื่อพระธาตุทั้งหลายแสดงอานุภาพใหญ่อย่างนี้แล้วอันตรธานหายไป. พระศาสนาชื่อว่าเป็นอันตรธานไป. พระศาสนาชื่อว่าเป็นของอัศจรรย์ ตราบเท่าที่ยังไม่อันตรธานไปอย่างน.ี้ ข้อที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จอุบัติไม่ก่อนไม่หลังกันอย่างนี้นั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB