ธรรมะ พระธรรม สัจธรรม

วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2555 0 ความคิดเห็น
คำว่า ธรรมะ, พระธรรม, สัจธรรม มีความหมายใกล้เคียงกันมากแต่ต่างกันอยู่บ้างเล็กน้อยกล่าวคือ คำว่า ธรรมะ นั้นเป็นคำกว้างๆ กลางๆ ใช้หมายรวมครอบคลุมได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นธรรมะในภาคส่วนไหน จึงแบ่งออกได้เป็น ๑. สมมุติธรรม คือ ธรรมอันไม่เที่ยง เกิดแล้วดับไป อันนำบุคคลผู้ไม่รู้ไปสู่ความลุ่มหลง ๒. วิมุติธรรม คือ ธรรมแท้ อันนำบุคคลผู้รู้แจ้งไปสู่ความหลุดพ้น นำไปสู่นิพพาน ส่วนคำว่า "ธรรมชาติ" นั้น ก็เป็นคำกว้างรองลงมาบ่งบอกถึงสิ่งที่เป็นอยู่อย่างนั้นเอง ไม่ใช่สิ่งที่ถูกสร้างหรือปั้นแต่งขึ้น ดังนั้น บางสิ่งจึงไม่เรียกว่าเ็ป็นธรรมชาติ เช่น การสร้างทำ, ปั้นแต่งสิ่งของต่างๆ ของมนุษย์ เรามักจะไม่เรียกว่าเป็นธรรมชาติ ส่วนคำว่า "ธรรมดา" นั้นเป็นคำกว้างรองลงมาอีกเช่นกันใช้หมายถึง ลักษณะของสิ่งที่เป็นไปตามปกติ ดังนั้น จึงมีคำว่า "ไม่ธรรมดา" เกิดขึ้น หมายถึง ธรรมะในภาคส่วนที่เกิดน้อยหรือเกิดไม่บ่อย  เราจึงมักเีรียกว่า "ไม่ธรรมดา" ส่วนคำว่า "สัจธรรม" นั้น มุ่งเน้นหมายความแคบลงอีกเช่นกัน ใช้หมายถึง "หลักการแก่นแท้" ของสรรพสิ่ง ดังนั้น สิ่งใดที่เป็นเปลือก ไม่จริงแท้ จึงไม่ได้หมายรวมอยู่ใน "สัจธรรม" เช่น ความคิดมิจฉาทิฐิผิดไปจากความจริง ย่อมไม่ถูกนับเป็นสัจธรรม นอกจากนี้ ยังมีคำว่า "ธรรมะ" ที่ใช้ในความหมายแคบด้วย เช่น ใช้หมายถึงภาคฝ่ายให้คุณ, ฝ่ายดี, ฝ่ายสัมมาทิฐิ เราเรียกว่า "ฝ่ายธรรมะ" แต่ภาคฝ่ายที่ตรงข้าม จะถูกเรียกว่า "ฝ่ายอธรรม" หรือ ธรรมะฝ่ายที่ให้โทษแก่มวลมนุษย์ เ้ป็นต้น


สุดท้าย คำว่า "พระธรรม" นั้น ใช้ในความหมายแคบอีกเช่นกัน หมายถึง "ธรรมะที่ตรัสรู้และแสดง" โดยพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นั่นเอง ซึ่งพระธรรมนี้ มีลักษณะเป็น "ส่วนหนึ่ง" ของ ธรรมะ อันไม่รวม "ธรรมะที่เกิดจากการปรุงแต่งของผู้อื่น" เช่น คนที่โกหกไปเรื่อย คำโกหกของเขาไม่อาจรวมอยู่ในพระัธรรมได้ แต่พระธรรมก็ได้กล่าวถึงการโกหกของเขาว่า "มุสา" นั่นเอง อนึ่ง พระธรรมของพระพุทธเจ้ามีลักษณะอันสอดคล้องกับ สัจธรรม, ฝ่ายธรรมะ, ธรรมชาติ เป็นต้น แต่ก็ไม่นับว่าเ้ป็นสิ่งเดียวกันเสียทีเดียว (ใช้ในความหมายต่างกันเล็กน้อย หรือมองในมุมที่ต่างกัน) ดังนั้น จึงอาจมีผู้ที่เข้าถึง "สัจธรรม" ได้มากมาย ที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ก็มีได้ เป็นได้ แต่สัจธรรมนั้น อาจไม่ได้มุ่งตรงสู่นิพพาน ก็ได้ เป็นเพียงสัจธรรมความจริงในบางแง่ บางมุม ที่แต่ละคนอาจมองเห็นในมุมที่ต่างกันไป นอกจากนี้ พระธรรม ยังประกอบด้วยส่วนที่เป็น "สัจธรรม" หรือความจริงแบบแก่นแท้ และส่วนที่ไม่ใช่สัจธรรม แต่ก็เป็นพระธรรมเหมือนกัน เช่น ศีล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีมาก่อน แต่พระพุทธองค์ทรงตราไว้ในภายหลัง เพื่อใช้ในการเตือนสติพระสาวก ให้เห็น "ความเป็นปกติ, ธรรมดา ของพระอรหันต์ทั้งหลาย" อนึ่ง พระธรรมในส่วนที่ไม่ใช่สัจธรรมนี้ จะกล่าวว่าไม่ใช่ความจริงแท้ ก็ไม่ได้ เพียงแต่ไม่ใช่ "ความจริงในส่วนแก่นแท้" ก็เท่านั้นเอง ดังนั้น การใช้คำว่า ธรรมะ, สัจธรรม, ธรรมดา, ธรรมชาติ ประกอบกับ "พระธรรม" ในพระพุทธศาสนานั้น ก็อาจเพื่ออธิบายและอาศัยความสอดคล้องต้องกันของสิ่งเหล่านี้ ทำให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจ ตรงต่อ "พระธรรม" ของพระพุทธเจ้า ก็เท่านั้นเอง (ไม่ใช่สิ่งเดียวกันเสียทีเดียว แต่ก็สอดคล้องกัน) เช่น การที่พระพุทธเจ้าสอนให้พระสาวกบางรูป เพ่งกสิณ "ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ" ก็เพ่งจาก "ธรรมชาติ" นั่นเอง ในขณะที่ "พระธรรมหมวดธาตุสี่" อันประกอบด้วย ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ อาศัยฟังจากพระวัจนะก็ได้ ไม่้ต้องเพ่ง



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB