นิพพาน

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 0 ความคิดเห็น
"นิพพาน" เป็น ธรรมะ, ธรรมชาิติ, ธรรมดา อย่างหนึ่ง อยู่ในหมวด "ปรมัตถธรรม" อันหมายถึง แก่นธรรม แก่นธรรม ในปรมัตถธรรม นี้ ประกอบด้วย จิต, เจตสิก, รูป และ นิพพาน จึงเห็นได้ชัดเจนว่า พระุพุทธเจ้าทรงจำแนก แยกธรรมทั้งสี่ออกคนละหมวด เพราะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน นั่นหมายความว่า สิ่งใดเป็น จิต นั้น ย่อมไม่ใช่นิพพาน, สิ่งใดเป็นเจตสิก ก็ย่อมไม่ใช่นิพพาน, สิ่งใดเป็นรูป ก็ย่อมไม่ใช่นิพพาน อันธรรมทั้งหลายทั้งมวลนั้น เมื่อพิจารณาถึงแก่นแท้ ก็เห็นเป็นปรมัตถธรรมนี้ ในหมวดใดหมวดหนึ่ง ไม่มีสิ่งใดจะรอดออกไปจากสี่หมวดนี้ได้ ในบางท่านที่พิจารณา "รูป-นาม" ส่วนที่เป็นรูป ตรงกับปรมัตถธรรมข้อที่ว่าด้วย "รูปปรมัตถ์" ส่วนที่เป็น "นาม" ตรงกับปรมัตถธรรมข้อที่ว่าด้วย "จิตและเจตสิก" ส่วน "นิพพาน" นั้น ไม่ใช่ทั้งทั้ง "รูปและนาม" พ้นแล้ว, เหนือแล้ว, หลุดแล้วทั้งรูปและนาม ในหมวดปรมัตถธรรมนี้ได้จำแนก ธรรมทั้งสี่ไว้ดังนี้ คือ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, รูป ๒๘, นิพพาน ๑ พึงสังเกตุว่านิพพานมีเพียง ๑ เท่านั้นเอง

นิพพานเป็นธรรมที่หลุดพ้นแล้วจากวัฏฏะสงสาร, การเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป, สมมุติ, รูปนาม ฯลฯ นิพพาน จึงไม่เกิด และไม่ดับ ทั้งยังไม่ใช่ธรรมที่ตั้งอยู่ ในกาลใดๆ ทั้งอดีต, ปัจจุบันและอนาคต ไม่ขึ้นกับกาล ไม่จำกัดกาล (อกาลิโก) ในขณะที่ธรรมอื่นๆ ที่พระพุทธองค์แสดงนั้นมีทั้งที่ขึ้นกับกาลและไม่ขึ้นกับกาล ปนกัน เช่น ในธรรมข้อ "ขันธ์" นั้น สังขารขันธ์ย่อมขึ้นกับชาติและภพ เกิดและดับไป, ไม่คงทน. ไม่จีรัง, ไม่ยั่งยืน สังขารย่อมปรากฏในกาลใดกาลหนึ่ง สิ้นกาลนั้น สิ้นชาตินั้น สิ้นภพนั้น ก็ดับสูญไป จึงขึ้นกับกาล นอกจากนี้ นิพพานยังไม่ใช่ "สมมุติธรรม" เนื่องจาก สมมุติธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่เที่ยง เกิดแล้วดับไปเป็นธรรมดา แต่ินิพพานไม่ได้เกิด และไม่ได้ดับ นิพพานจึงเป็นธรรมระดับวิมุติธรรม คือ สัจธรรมแท้ แต่ไม่ได้หมายความว่า "มีอยู่ หรือดำรงอยู่" ด้วยเพราะนิพพานไม่ใช่การเกิด จึงไม่จำเป็นต้องมีการดำรงอยู่ในกาลใดๆ (ชาติ) หรือที่ใดๆ (ภพ) หลุดพ้นแล้วจากชาติและภพ, จากวัฏฏสงสารและไม่ใช่ธรรมในหมวด "ปฏิจจสมุปบาท" เมื่อพ้นแล้วจากเหตุและผลที่เกิดขึ้นเป็นลำดับไปในปฏิจสมุปบาท จึงอาจจัดอยู่ในส่วนนิพพานได้ แต่หากยังอยู่ในเรื่องของการเกิดและด้ับไปเป็นลำดับตามเหตุปัจจัย ยังเป็นเรื่องของเหตุและผลอยู่ สิ่งนั้นย่อมไม่ใช่นิพพาน

นิพพาน ด้วยตัวเองแล้วมีเพียง ๑ เดียว ไม่มีอื่่น แต่เมื่อไม่อาจมองเห็นนิพพานทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวได้ จึงถูกมองผ่าน "แต่ละด้านแต่ละมุมของคำว่านิพพาน" ทำให้ได้คำและความหมายอีกมากมาย แตกต่างกันไปตามมุมมองนั้น เช่น กิเลสนิพพาน หมายถึง สภาวะที่กิเลสได้หลุดพ้นแล้วจากการเกิดดับ ไม่เกิด ไม่ดับอีก มีเหมือนไม่มี, ไม่มีก็เหมือนว่าจะมี แท้แล้วหาใช่ความมีั, ความเกิด, ความดำีรงอยู่ไม่ ทั้งยังไม่ใช่ความดับ, ความสูญ, ความไร้ อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีคำว่า "พระธาตุนิพพาน" คำว่า "มโนธาตุนิพพาน" คำว่า "ขันธปรินิพพาน" ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนเป็นเพียง "บางส่วนของนิพพาน" หรือในอีกด้านหนึ่งคือ การนิพพานเพียงบางส่วนเท่านั้น เรียกว่า "สอุปาทิเสนิพพาน" ไม่ใช่ "อนุปาทิเสสนิพพาน" ซึ่งทั้งสอุปาทิเสสนิพพาน และอนุปาทิเสสนิพพาน นี้ เป็นคำอธิบายนิพพาน ในมุมที่แตกต่างและตรงกับข้าม คือ หากจะกล่าวถึงการนิพพานบางส่วน ก็เรียกว่า "สอุปาทิเสสนิพพาน" แต่จะกล่าวถึงการนิพพานทั้งหมดทุกส่วน คือ "อนุปาทิเสสนิพพาน" นั่นเอง ดังนั้น ทั้ง ธาตุนิพพาน, มโนธาตุนิพพาน, ขันธปรินพพาน ก็ล้วนเป็น "สอุปาทิเสสนิพาน" ทั้งสิ้น คือ "นิพพานบางส่วน" ไม่ใช่การนิพพานทั้งหมด (อนุปาทิเสส)


ทั้ง "อนุปาทิเสสนิพพาน" และ "สอุปาทิเสสนิพพาน" เป็นการมอง "นิพพาน" หนึ่งเดียว ออกเป็นสองมุมมอง แต่นิพพานหนึ่งเดียวนั้น ไม่ใช่ทั้ง "อนุปาทิเสสนิพพาน" และ "สอุปาทิเสสนิพพาน" อุปมาเหมือนคนจะขนของกลับบ้าน "บ้านมีหลังเดียว" (นิพพานหนึ่งเดียว) แต่ถ้าขนของไปบางส่วน ก็จะเรียกว่า "สอุปาทิเสสนิพพาน" แต่ถ้าขนของเข้าบ้านหมดทุกส่วน ก็เรียกว่า "อนุปาทิเสสนิพพาน" เท่านั้นเอง ทว่า "บ้าน" นั้นก็มิใช่ทั้ง "อนุปาทิเสสนิพพาน" และ "สอุปาทิเสสนิพพาน" อนึ่ง อย่าพึงคิดว่านิพพานเป็นบ้าน ด้วยว่านิพพานหลุดพ้นแล้วจาก "ชาติและภพ" จึงไม่จำเป็นต้องดำรงอยู่ในภาวะ, ภพ, สถานที่ใดๆ อีกเลย ด้วย "นิพพาน" เป็นเช่นนั้นเอง ดุจ บุคคลเอาดินเหนียวไปปั้นเป็นสัตว์ต่างๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ สัตว์เหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วดับไปด้วยอำนาจแห่งการปั้นแต่ง แต่ดินเหนียวก็ยังคงเป็นดินเหนียวเช่นเดิม ดินเหนียวนี้จึงอุปมาดัง "จิต" ที่เวียนว่ายไปสู่ "รูปนามใหม่ๆ" ไม่ได้แตกดับไปเลยแต่อย่างใด ส่วนนิพพานนั้น แม้แต่ดินเหนียวก็ไม่อาจอุปมาได้เลย เพราะพ้นแล้วจากภาวะ, สภาวะ, สภาพใดๆ แม้แต่จิตก็ยังไม่ใช่นิพพาน ดังนี้แลฯ



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB