คน

วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555 0 ความคิดเห็น
"คน" เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่งที่มีความหลากหลายมาก ทั้งส่วนดี, ส่วนเลว, ส่วนถูก, ส่วนผิด, ส่วนมืด, ส่วนสว่าง, ส่วนขาว, ส่วนดำ, ส่วนเทพ, ส่วนมาร, ส่วนสูง, ส่วนต่ำ ฯลฯ คละเคล้าผสมละคนปนกัน ในหนึ่งตัวคน ก็ดี ในภาพรวมของสังคม ก็ดี ดังนั้น คน จึงมีทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์ ในคนที่เป็นมนุษย์ ย่อมมีจิตใจ, จิตวิญญาณสูงตั้งแต่มนุษย์ขึ้นไป นับรวมๆ ว่าเป็นมนุษย์ได้ แปลว่า "ผู้มีใจสูง" แต่ถ้ามีจิตใจเสื่อมต่ำกว่ามนุษย์นั้นลงมา คนผู้นั้นย่อมไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นอมนุษย์ ในกลุ่มคนที่เป็นอมนุษย์นี้ ยังคงมีร่าง สังขารของสัตว์โลกที่เรียกว่า "คน" อยู่ แต่จิตใจ หรือจิตวิญญาณอาจไม่ใช่ เปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมต่ำลงไปจนกลายเป็นอมนุษย์ แรกเริ่มเดิมทีคนย่อมเกิดเป็นมนุษย์ก่อน แต่เมื่อก่อกรรมเสื่อมต่ำ ทำให้ัตัดรอนบุญในความเป็นมนุษย์ลงไป คนผู้นั้นก็สูญเสียความเป็นมนุษย์ ชาวบ้านมักใช้คำเรียกง่ายๆ เช่น คำว่า "ไม่เป็นผู้เป็นคน" หรือ "เสียคน" ไปแล้ว นั่นหมายถึง "การสูญเสียความเป็นมนุษย์ ของคนเหล่านั้น" ไป นั่นเอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เกิดขึ้นได้ มีได้ หลายครั้งในชีวิต บางครั้งชีวิตคนๆ หนึ่ง อาจเสื่อมต่ำทรามลงไปกลายเป็นอมนุษย์ แล้วกลับมาพัฒนาสูงขึ้น กลับคืนสู่ความเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง ก็ได้


คนมีองค์ประกอบในระดับทิพย์อยู่มากมาย เป็นเหมือนพลังงานเชิงซ้อนในร่างสังขารนั้นๆ พลังงานหรือตัวตนระดับทิพย์นี้ ไม่ใช่เชิงเดี่ยว แต่มีอยู่ละคนปนกันมากกว่า ๑ ชนิด หรือ ๑ รูปแบบ ตราบเมื่อถึงวาระสิ้นอายุขัยแล้ว จึงเหลือตัวตนระดับทิพย์ หรือพลังงานเพียงชนิดเดียว แล้วก็จรจุติจากสังขาร ร่างนั้นไป เมื่อตายลง คนไทยโบราณจึงเรียกว่า "คนมี ๓๒ ขวัญ" หากขวัญหาย (แม้ร่างกายปกติ) จะส่งผลกระทบต่อจิตใจได้ เช่น กลายเป็นคนเหม่อลอย, เอ๋อ, เลอะเลือน, ไม่เต็มเต็ง ฯลฯ ในทางเต๋าเรียกว่า คนหนึ่งคน มี ๓ หุน ๗ พั่ว (สามจิต, เจ็ดวิญญาณ) ในทางอียิปต์เชื่อว่า คนมีทั้งส่วนที่เป็นภาคสว่าง เป็นตัวตนเบื้องบน เรียกว่า Ba ส่วนที่เป็นตัวตนที่อยู่กับสังขาร เรียกว่า Ka ส่วนที่เป็นตัวตนเบื้องล่าง (ภาคมืด) เรียกว่า Shadow เป็นต้น ในทางพุทธศาสนา กล่าวถึงจิตในตัวคนว่ามี ๘๙ ดวง ทั้งหมดนี้คือ "จิตสังขาร" คือ จิตหลังจากถูกปรุงแต่งแล้วทั้งสิ้น ไม่ใช่จิตตามธรรมชาติแต่ดั้งเดิม ซึ่งจิตตามธรรมชาติก่อนถูกปรุงแต่งนั้น เรียกว่า "จิตประภัสสร" ซึ่งมีเพียง ๑ ลักษณะเดียว ไม่มี ไม่เป็น ในลักษณะอื่น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ "คน" แต่ละ "หนึ่งคน" ดูเหมือนมีหลายตัวตน, หลายอารมณ์, หลายด้าน, หลายมุม, หลายบทบาท, หลายแบบ ฯลฯ แปรผัน เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ไม่เที่ยง ไม่อาจยึดมั่นถือมั่นได้ ไม่แน่นอน เอาแน่นอนไม่ได้ ยึดมั่นคนหนึ่งคนใด เป็นสรณะมากไม่ได้ ตราบยังไม่หลุดพ้นจากความเป็น "คน" ย่อมเป็นดังเช่นนี้แลฯ


    

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB