แสดงธรรม

วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
แสดงธรรม หมายถึง การสื่อธรรมที่มีอยู่ภายในไปสู่ผู้รับธรรมซึ่งประกอบด้วยการสื่อธรรมที่ผ่านตัวอักษรและไม่ผ่านตัวอักษร (ที่เรียกว่าจิตสู่จิต, ธรรมสู่ธรรม) ในการแสดงธรรมครั้งหนึ่งจะมีทั้งสองส่วนประกอบกัน ส่วนใดที่ผ่านตัวอักษร ฟังแล้วเข้าในใจได้ให้ผลสูงสุดเป็น "สุตมยปัญญา" ผู้ใดฟังแล้วรู้แจ้งตามจริงนั้น ก็ให้ผลเป็น "สัจจานุโพโธ" (ยังไม่ใช่การบรรลุธรรมที่แท้จริง เป็นเพียงการรู้แจ้งขั้นต้น) ถ้าผู้ใดนำไปศึกษาเล่าเรียนต่อก็ให้ผลเป็น "ปริยัติ" เท่านั้น ในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้านั้น บางครั้ง ประกอบไปด้วยธรรมะตามหมวดหมู่อย่างมีระเบียบ แล้วยังซ่อน "ปริศนาธรรม" เอาไว้ด้วย ซึ่งการแสดงธรรมตามหมวดหมู่นั้นเป็นเพียงการปูพื้นฐานให้เกิดความพร้อมที่จะบรรลุธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ส่วนที่จะทำให้บรรลุธรรมจริงๆ เพราะส่วนที่ทำให้บุคคลบรรลุธรรมได้จะมาจากส่วนที่เป็น "ปริศนาธรรม" อันเป็นเหมือนกุญแจไขสู่ประตูแห่งความรู้แจ้ง ที่จะทำให้บุคคลเข้าถึง "ธรรมที่ไม่ผ่านตัวอักษร" คือ ธรรมแบบจิตสู่จิต ธรรมสู่ธรรม นั่นเอง ในพุทธศาสนานิกายเซนเรียก "ปริศนาธรรมที่ซ่อนอยู่" นี้ว่า "โกอาน" ซึ่งอาจจะเป็นเพียงวลีสั้นๆ ที่แทรกอยู่ในพระสูตร หรือพระธรรมที่อธิบายในหมวดใดหมวดหนึ่ง เนื่องจากธรรมแท้ไม่อาจที่จะอธิบายผ่านตัวอักษรภาษาใดๆ ได้ การแสดงธรรมโดยใช้ตัวอักษร, ภาษาต่างๆ จึงเป็นเพียงการนำจิตเบื้องต้นให้บุคคลเข้าใกล้ธรรมอีกระดับเท่านั้นเอง แต่หากบุคคลจะบรรลุธรรมได้ จำต้องค้นหา "โกอาน" ที่ซ่อนอยู่ในธรรมนั้นให้พบ ก็จะค้นพบกุญแจไขไปสู่ธรรมที่ไร้ตัวอักษร หรือ "จิตสู่จิต, ธรรมสู่ธรรม" ได้


อนึ่ง ในการโปรดสัตว์ของพระพุทธเจ้าไม่จำเป็นต้องแสดงธรรมอะไรมากมายก็ได้ เพียงใช้ "โกอาน" หรือปริศนาธรรมสั้นๆ วลีสั้นๆ ให้พระสาวกแต่ละคนก็สามารถบรรลุธรรมได้แล้ว แต่เนื่องจากบางครั้ง ท่านต้องแสดงธรรมต่อบุคคลมากมายพร้อมๆ กัน ที่มีทั้งที่พร้อมบรรลุธรรมและไม่พร้อมบรรลุธรรม ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้ท่านต้องแสดงธรรมที่มีเนื้อหาและหมวดหมู่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่ภิกษุจำนวนมากพร้อมๆ กัน ซึ่งไม่เน้นให้เกิดการบรรลุธรรม เนื่องจากภิกษุเหล่านั้นล้วนได้อรหันตผลมาก่อนแล้ว เป็นต้น (ธรรมที่แสดงในวันมาฆบูชา ซึ่งพระอรหันต์ประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมา่ย) ในขณะที่บางครั้งพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์ จนทำให้เขาบรรลุธรรมนั้น พระองค์มิได้แสดงธรรมเช่นนั้น แต่กลับกล่าวเพียงวลีสั้นๆ เป็นปริศนาธรรมเท่านั้นเอง เช่น ครั้งที่กล่าวแก่องคุลีมาลว่า "เราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด" และยังมีอีกหลายวลีที่เป็นวลีสั้นๆ เป็นโกอาน (ปริศนาธรรม) ยังผลให้ผู้ฟังบรรลุธรรม



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB