วิจิกิจฉา

วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
วิจิกิจฉา คือ ความเคลือบแคลงระแวงสงสัยในธรรม ที่มีผู้ได้แสดงไว้ชัดเจนดีแล้ว มิใช่ความสงสัยใคร่รู้ในธรรม หลายท่านแปลผิดไปว่าเป็นความสงสัยในธรรม ซึ่งแตกต่างกันอย่างมาก ความสงสัยในธรรมนั้นช่วยทำให้เกิดปัญญาได้ แต่ความเคลือบแคลงระแวงสงสัยทั้งๆ ที่ได้เห็นธรรมชัดแล้วนั้น กลับเป็นตัวขวางกั้นการบรรลุธรรม ยกตัวอย่างเช่น หากแสดงธรรมชัดเจนดีแล้ว ผู้ฟังกลับยังระแวงแคลงใจ ก็จะไม่อาจบรรลุธรรมได้ แต่ถ้าสงสัยใคร่รู้ ถามต่อจนกระจ่าง ก็อาจบรรลุธรรมได้เพราะความสงสัยใคร่รู้นั้น ซึ่งวิจิกิจฉานี้ เกิดขึ้นจากความศรัทธาอ่อนกำลัง หรือไม่มีความศรัทธาต่อผู้แสดงธรรม ต่อให้ผู้แสดงธรรม แสดงธรรมจนชัดแจ้ง ชัดเจนดีแล้วเท่าใด ก็ไม่อาจบรรลุธรรมได้ เพราะขาดศรัทธา จึงแสดงออกมาเป็นความระแวงแคลงใจสงสัยในธรรมอยู่นั่นเอง ตรงกันข้ามกับในบางท่านที่อาจมีความปรารถนาสัพพัญญูญาณ อาจสงสัยใคร่รู้มากกว่าคนธรรมดา แต่ไม่ใช่ไม่มีความศรัทธาในผู้แสงดธรรมก็หาไม่ แต่ด้วยความปรารถนาอยากรู้มากนั้น ทำให้สงสัยมาก เท่านั้นเอง อย่างนี้ไม่จัดเป็นวิจิกิจฉา อนึ่ง ความสงสัยใคร่รู้ คือ หัวใจสำคัญที่ทำให้เกิด "สติ" ทำให้เฉลียวใจ เอะใจ แล้วเกิดปัญญาปิ๊งตามมาในที่สุด แต่หากไม่มีความสงสัยในธรรมเลย จะไม่มีทางเกิดสติและปัญญาได้เลย บางคนอ้างว่าได้อ่านหรือฟังธรรมแล้วไม่มีความสงสัยอะไรเลย จนหลงตัวเองคิดว่าบรรลุธรรมแล้วก็มี อย่างนี้เรียกว่าไปอ่านตำรามาแล้ว พยายามทำให้เหมือนในตำรา คือ ตำราว่าผู้บรรลุธรรมจะไม่มีิวิจิกิจฉา ก็เลยทำให้เหมือนตามนั้น แต่ไม่ได้บรรลุฯ จริง


ผู้ที่มีวิจิกิจฉามาก อาจแสดงออกมาด้วยการถกเถียงโดยไม่สนใจธรรมที่แสดง, ร้องขอให้แสดงถึงที่มาของธรรมนั้นๆ, หาหลักฐานต่างๆ มาอ้างอิงว่าจริงหรือไม่? เป็นต้น ทั้งๆ ที่ธรรมที่แสดงทั้งหลายนั้น ก็ชัดเจนดีแล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกบุคคลไว้ ๔ จำพวก (แต่ไม่ใช่บัวสี่เหล่า) มีคนจำพวกหนึ่งที่ไม่อาจบรรลุธรรมได้ในชาตินี้ แม้ฟังธรรมมากเท่าใด, อ่านมาก, จำมาก, ถกเถียงมาก ฯลฯ ก็ไม่อาจบรรลุได้ บางคนเพราะมีสักกายทิฏฐิมาก, บางคนเพราะมีวิจิกิจฉามาก ฯลฯ เป็นต้น



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB