จิตประภัสสร

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
จิตประภัสสร คือ จิตที่บริสุทธิ์ใสซื่อ ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ ก็ตาม โดยธรรมชาติแล้วจะทำงานร่วมกับเจตสิก ซึ่งเจตสิกไม่เที่ยง ไม่มีแก่นสารสาระ (ไม่ใช่ธาตุ) เกิดขึ้นแล้วดับไป ทำให้จิตเหมือนไม่บริสุทธิ์ ถูกปรุงแต่งไปด้วยอาการต่างๆ ตามแต่เจกสิกนั้นๆ ทว่า แท้แล้วจิตก็ยังบริสุทธิ์อยู่เช่นเดิม ส่วนที่ไม่บริสุทธิ์นั้น ก็คือ "เจตสิก" ซึ่งไม่เที่ยง เกิดได้ ดับได้ ตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นที่เราจะต้อง "ไปทำกรรมเพื่อดับมัน" ในนักวิปัสสนา จะไม่ทำการดับสิ่งนี้ ปล่อยตามธรรมชาติ แล้วในที่สุดก็เห็นอนิจจังใน "เจตสิก" ว่าเกิดแล้วดับไปเอง ไม่มีสาระอะไร เหมือนเงาหลอกหลอน เมื่อเจตสิกดับหมดแล้ว จึงชัดแจ้งว่าจิตนั้นบริสุทธิ์อยู่แต่อย่างเดียว มีหนึ่งลักษณะเดียวนี้ ไม่มีอื่น นอกจากนี้ จิตเมื่อทำงานร่วมกับ "ขันธ์" เช่น วิญญาณขันธ์แล้ว ก็จะทำหน้าที่ "รับรู้" (ตอนทำงานร่วมกับเจตสิก จะแสดงอาการต่างๆ เช่น โลภ, โกรธ, หลง แต่พอทำงานร่วมกับวิญญาณขันธ์จะทำหน้าที่รับรู้) โดยมี "วิญญาณขันธ์" เป็นตัวผู้รู้, รู้มาก, รู้เยอะ, จอมรู้ และชอบสู่รู้ โดยจะดึงเอาจิตไปร่วมรู้ด้วย เช่น ถ้านิ้วแตะแก้วน้ำเย็น วิญญาณขันธ์ก็ดึงเอาจิตไปรับรู้ความเย็น แต่ก็มีบางครั้งที่ "จิต" ไม่ได้ถูกดึงไปรู้ ทำให้ไม่รู้สึกรับรู้ในจุดนั้นๆ เช่น เผลอถูกอะไรเป็นแผลเล็กน้อย ในขณะที่กำลังมีสมาธิกับอย่างอื่นอยู่ พอมาเห็นอีกทีจึงรู้ว่ามีเลือดออก (แต่ไม่มาก) เป็นต้น เหตุการณ์เช่นนี้ หลายคนอาจเคยประสบกับตัวนะครับ เอาง่ายๆ บางคนถูกเรียกแล้วแต่ไม่ได้ยิน นั่นแหละ จิตไม่ได้ไปรับรู้ อาจเพราะรวมสมาธิจิตไปอยู่กับเรื่องอื่นอยู่ เช่น มัวคุยโทรศัพท์กับแฟนเลยไม่ได้ยินแม่เรียก เป็นต้น


ดังนั้น จิตประภัสสรจึงเป็นผู้บริสุทธิ์เสมอ ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม เหมือนคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ อาจจะรู้หรือไม่รู้บ้างก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น "ตัวผู้รู้" เสมอไป และจิตประภัสสรนี่ก็มีลักษณะที่ใสซื่อ บริสุทธิ์ดุจเด็กที่โง่ซื่ออีกด้วย คือ ยังไม่รู้แจ้งในนิพพาน จำจะต้องได้รับการอบรม เหมือนเด็กที่ต้องได้รับการสั่งสอน จิตที่บริสุทธิ์ (จิตประภัสสร) จึงจะพัฒนาไปรับรู้ได้ถึงนิพพานได้ ซึ่งเราเีรียกจิตที่รับรู้ได้ถึงนิพพานนี้ว่า "อธิจิต" แต่ถ้ามองเป็น "อายตนะรับรู้" เราจะไม่นับเข้ารวมในอายตนะหก แต่เรียกเฉพาะว่า "อายตนะนิพพาน" หากพิจารณาแบบ "กายานุสติปัฏฐาน" ใช้สติพิจารณา "กายในกาย" ให้ละเอียดลงไปเรื่อยๆ เราเรียกกายนี้ว่า "ธรรมกาย" นั่นเอง ทั้งหมดคือ อธิจิต, ธรรมกาย, อายตนะนิพพาน นั้นหมายถึงสิ่งเดียวกัน แต่มองผ่าน "ธรรมต่างหมวด ต่างมุม" ทำให้มีชื่อเรียกต่างกันไปเท่านั้นเอง



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB