ชาติ

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
ชาติ คือ ชีวิตที่เกิดขึ้นในภพหนึ่งๆ ของสังขารทั้งปวง ในส่วนที่เป็นชีวิตหรือที่เรียกว่า "ชีวิตินทรีย์" หรือ "ชีวะ" หรือ "รูปธรรมชีวิต" ซึ่งจะเป็นหนึ่งในสามภพใดก็ได้ เช่น ภพนรก, ภพมนุษย์, ภพสวรรค์ ในสามภพนี้ ไม่มีภพอื่นมากกว่านี้ (ทว่า ก็ยังมี "รูปธรรมชีวิต" บางส่วนที่มีชาติอยู่นอกระบบสามภพนี้ ที่เรียกว่า "อันตรภพ" หรือ "ภพมืด") อนึ่ง การที่จะเกิดมี "ชาติ" ได้นั้น ตามลำดับวงจรปฏิจสมุปบาทแล้วจะต้องมี "ภพ" เกิดก่อน และก่อนมีภพ จำต้องมี อวิชชา, สังขาร, วิญญาณ, นามรูป, สฬายตนะ, ผัสสะ, เวทนา, ตัณหา, อุปทาน เกิดขึ้นก่อน ดังนั้น ถ้าจะนับสิ่งที่ไม่มีชีวิตเช่น น้ำที่ละลายจากก้อนน้ำแข็ง เราจะเรียกว่า "น้ำเกิดจากน้ำแข็งละลาย" ว่าเป็น "ชาติ" ได้หรือไม่? ก็ต้องกลับไปดูว่าการเกิดขึ้นนี้มี อวิชชา, สังขาร, วิญญาณ, นามรูป, สฬายตนะ, ผัสสะ, เวทนา, ตัณหา, อุปทาน และภพ เกิดขึ้นก่อนหรือไม่ ถ้ามีจึงนับเป็น "ชาติ" ได้ แต่ถ้าไม่มี ไม่ครบ ก็ยังไม่ถึงธรรมที่จะนับได้ว่าเป็น "ชาติ" จัดเป็นเพียง "ธาตุน้ำ" ที่แปรเปลี่ยน "รูป" ไปเพราะความไม่เที่ยง เท่านั้น ดังนั้น ธรรมในหมวด "ปฏิจสมุปบาท" ที่กล่าวถึงคำว่า "ชาติ" นี้ จึงใช้กับธรรมที่มีกระบวนการเกิดตามลำดับคือ อวิชชา, สังขาร, วิญญาณ, นามรูป, สฬายตนะ, ผัสสะ, เวทนา, ตัณหา, อุปทาน และภพ ไม่ได้หมายรวมธรรมที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นเป็นลำดับสืบเนื่องกัน ดังเช่น "ธาตุน้ำ" ดังที่ได้ยกตัวอย่างไว้แล้วข้างต้น อนึ่ง ในลำดับการเกิดทั้งหมดนั้น มี "เวทนา" อันหมายถึง "ความรู้สึกสุข, ทุกข์ หรือเฉยๆ" อยู่ด้วย นั่นหมายความว่า ในกระบวนการเกิดนี้ จึงเป็นการเกิดของสิ่งที่ "มีจิตรับรู้สุขทุกข์" ได้ นั่นเอง ไม่ได้หมายถึง การเกิดของสิ่งที่ไม่อาจรับรู้เวทนาได้ ดังนั้น ชาติจึงไม่ได้ถูกนำมานับสิ่งที่ไม่มีชีวิต (เพราะสิ่งไม่มีชีวิต ไม่มีเวทนา ดังกล่าว) อนึ่ง ในปฏิจสมุปบาทนี้ จึงเป็นเรื่องของสิ่งที่มี "จิต" (มโนธาตุ) อยู่ด้วย และจิตนั้นก็ผสมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า "อวิชชา" แล้วตั้งแต่ต้น จึงเกิดอย่างเป็นลำดับไป เช่นนั้นได้ สำหรับธรรมชาติที่ไม่มีจิต (มโนธาตุ) ดำรงอยู่ เราจะไม่ันับลำดับการเกิดเช่นนี้


ด้วยเหตุนี้ ทั้งธรรมหมวดปฏิจสมุปบาท ก็ดี และคำว่า "ชาติ" ก็ดี จึงใช้เฉพาะกับสิ่งที่มีจิต นั่นเอง ธรรมอื่นๆ ที่ไม่มีจิตดำรงอยู่ด้วย ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นตามลำดับของปฏิจสมุปบาทได้ (ไม่มีจิต ย่อมไม่อาจมีเวทนา รับรู้สุข, ทุกข์ได้) ดังนั้น หากเห็นน้ำแข็งละลายเป็นน้ำ จะนับว่าน้ำแข็งหมดสิ้น ๑ ชาติแล้วนั้น ไม่ได้ เนื่องจากน้ำแข็งไม่มีจิต และไม่มีเวทนารับรู้สุข-ทุกข์ใดๆ เราจะเรียกว่า "รูปน้ำแข็ง" ดับไป เกิด "รูปน้ำเหลวๆ" ขึ้นมาแทนที่ ในการพิจารณาธาตุน้ำนั้นๆ เท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องใช้หลักปฏิจสมุปบาทเลย



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB