วิริยะ สัมมาวายามะ

วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2555 0 ความคิดเห็น
วิริยะ หมายถึง ความเพียร ซึ่งไม่ได้หมายความแต่ว่าทำให้มาก หรือทำให้เยอะ แต่หมายถึง ทำอย่างต่ิอเนื่อง สม่ำเสมอ ไม่ขาดสาย แม้ไม่ได้เร่งรีบ, ไม่ได้ทำเกินกว่าเดิม, ไม่ได้ทำมากขึ้น ด้วยความสม่ำเสมอนั้น ก็นับว่าคือ "ความเพียร" อนึ่ง ในทางโลกคำว่า "วิริยะ" ใช้ในความหมายกว้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำอย่างเร่งรีบ, มากล้น, เกินกว่าปกติ ก็นับเข้าว่าเป็นวิริยะได้เหมือนกัน ดังนั้น ในทางธรรม จึงมีคำที่ใช้ในความหมายที่แคบลงเฉพาะเจาะจงลงไปอีกคำหนึ่งว่า "สัมมาวายามะ" หมายถึง "ความเพียรอันเป็นกลาง ตรงต่อธรรม" นั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากความเพียรในทางโลกมาก เช่น ถ้าบุคคลเพียรจับปลาไปขาย เขาก็ย่อมนับได้ว่ามีความเพียรในการประกอบอาชีพทางโลกแต่ในทางธรรมแล้วอย่างนี้ไม่ใช่ "สัมมาวายามะ"  เพราะเป็นการทำกรรมเพิ่ม ไม่ตรงต่อธรรม ตรงกันข้าม บุคคลที่ไม่ทำกรรมเลย ไม่จับปลาไปขายเลย นั้น กลับมี "สัมมาวายามะ" มากกว่า คือ "ความเพียรพยายามที่จะไม่ก่อกรรมเพิ่ม" นั่นเอง ดังนั้น คำว่าความเพียรในทางโลกจึงสวนทางกับความเพียรในทางธรรม ส่วนคำว่า "วิริยะ" นั้นเป็นคำกว้างๆ ใช้ได้ไม่ว่าทั้งความเพียรในทางโลกหรือความเพียรในทางธรรม เช่น คนที่ขยันจับปลา ก็นับว่ามีวิริยะในทางโลก ส่วนคนที่ไม่ทำอะไรเลย ไม่จับปลาไปขาย ก็นับว่ามีวิริยะในการละเว้นจากการฆ่าสัตว์เช่นกัน ทว่า ในคนแรกย่อมไม่นับว่ามี "สัมมาวายามะ" แต่คนหลัง นับได้ว่ามี "สัมมาวายามะ" ต่างกันดังนี้ ไม่ต่างกับความเพียรของฤษี ที่ยิ่งพากเพียรในการทำกรรมฐาน, เข้าฌานสมาบัติ ฯลฯ กลับยิ่งก่อให้เกิดชาติสืบภพไปมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็น "วิริยะ" ที่เป็น "ความเพียรจม" ไม่ใช่ "สัมมาวายามะ" เลย


นอกจากนี้ ยังมีำคำว่า "ความเพียรจม" อันหมายถึง ความเพียรพยายามที่ทำไปแล้ว ก็ไม่ทำให้หลุดพ้นได้ ตรงข้ามกลับยิ่งหลงวน, ยึดติด, ติดหล่ม, จมปลัก ฯลฯ ไม่อาจนำไปสู่ความหลุดพ้นได้ อันเป็นความเพียรที่ตรงกันข้ามกับ "สัมมาวายามะ" อนึ่ง ปวงสัตว์ทั้งหลายมักมี "วิริยะ" ขึ้นมาก่อน อันเป็นความเพียรกว้างๆ ทำให้มี "วิริยะพละ" เจริญดี วิริยะพละนี้ ย่อมเป็นกำลังช่วยให้เกิดการบรรลุธรรมได้ แต่หากยังไม่เข้าทาง ยังไม่ตรง "มรรค" ย่อมไม่มีทางบรรลุธรรม ย่อมกลายเป็น "ความเพียรจม" ไป เมื่อเกิดมี "สัมมาทิฐิ" แล้ว มีจิตตรงต่อธรรมแล้ว ย่อมดำเนินไปตามมรรคาแห่งธรรม จนเข้าถึง "สัมมาวายามะ" อันเป็นการทำลายล้างความเพียรจมนั้น ให้สิ้นลงไปได้ในที่สุด อันเป็นธรรมที่ทำให้เกิดความเพียรในการลดละการก่อกรรม อันเป็นธรรมที่ทำให้เกิดความเพียรในการทำให้แจ้งในธรรม มีปัญญาสว่างไสว เข้าถึงซึ่งนิพพาน นั่นเอง



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB