สักกายทิฏฐิ

วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555 0 ความคิดเห็น
สักกายทิฏฐิ หมายถึง ความถือตัวถือตนเป็นใหญ่ จนกลายเป็นเครื่องขวางกั้นการเปิดใจเรียนรู้ธรรมะ เช่น ถือว่าตนอายุมากกว่า, เรียนมาก่อน, ความรู้มากกว่า, จดจำได้มากกว่า, อ่านมามากกว่า, ได้เปรียญธรรมขั้นสูงกว่า, ได้คะแนนสอบมากกว่า, ฐานะสูงกว่า ฯลฯ ความถือตัวถือตนเป็นใหญ่เหล่านี้ นับเฉพาะส่วนที่ "ติดกับกาย" เท่านั้น หมายความว่าอะไร? ในบางคน จิตวิญญาณของเขามีสภาวะ "รู้" จิตวิญญาณเป็นตัวรู้ และรู้ว่าใครมีธรรมจริง เมื่อพบผู้มีธรรมจริง จิตวิญญาณของเขาก็รู้ แต่กายสังขารไม่รู้ เพราะยังมีสิ่งนี้ที่เรียกว่า "สักกายทิฏฐิ" หลายครั้งจิตวิญญาณพยายามสื่อสารให้ร่างกายเลิกหลงเสียทีแต่ก็ไม่สำเร็จเพราะสิ่งนี้ "สักกายทิฏฐิ" บางครั้ง พระพุทธเจ้าใช้วิธี "จิตสู่จิต" สื่อจิตสู่จิต ธรรมสู่ธรรมโปรดทางจิต จนจิตของผู้คนมากมายได้เข้าถึงธรรมระดับหนึ่งแล้ว แต่เพราะกายสังขารนั้นยังไม่ไ่ด้รับธรรม ทำให้กายสังขารนั้นก็ยังมีความหลงตัวเองอยู่ เมื่อจิตวิญญาณที่พร้อมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว แต่อยู่ในกายสังขารที่ยังมีสักกายทิฏฐิอยู่ ได้พร้อมยอมจำนนละความถือตัว ถือตน ยอมเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เข้ามาบวช แม้ยังไม่ได้ฟังธรรม เพียงแค่ปลงผมหรือห่มจีวรเท่านั้น ก็บรรลุ "อรหันตผล" ได้ทันที (เรื่องการบรรลุธรรมโดยที่ยังไม่ไ่ด้ฟังธรรมนี้ มีเขียนไว้ในพระไตรปิฎกด้วย) เรียกว่า จิตวิญญาณพร้อมเป็นพระอรหันต์แล้ว ทำลายสังโยชน์ตัวอื่นๆ ได้หมดพร้อมมูลแล้ว ประดุจ "บัวบาน" เหลือเพียงสักกายทิฏฐิเท่านั้น ก็บรรลุอรหันต์ได้ทันที นั่นเอง ดังนั้น เรื่องสักกายทิฏฐิจึงเป็นเรื่องในส่วนของกาย ไม่ใช่ส่วนของจิตวิญญาณ มีผู้คนอยู่ไม่น้อยที่เป็นเช่นนี้ หลายครั้งจิตวิญญาณของเขารับรู้ได้ (จิตวิญญาณเป็นธาตุรู้) ถึงว่าผู้ใดมีธรรมแท้จริงแต่เพราะมี "สักกายทิฏฐิ" เหลืออยู่ กายสังขารจึงไม่เชื่อ ไม่รู้ดังเช่นจิตวิญญาณ  อนึ่ง การที่บุคคลหนึ่งใดไม่เชื่อเรา แล้วเราจะสรุปว่าเขามีสักกายทิฏฐินั้น "หาได้ ไม่" เพราะเขาอาจเชื่อพระพุทธเจ้าและได้มรรคผลอยู่แล้ว เพียงแต่เขาไม่เชื่อเรา ก็ได้ หลายคนที่ชอบตั้งตัวเป็นครูอาจารย์ มักวัดหรือตัดสินผู้อื่นแต่เพียงว่าเขาไม่เชื่อตนเองแล้วจะต้องเป็นพวกมีสักกายทิฏฐิมาก "ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย"


สักกายทิฏฐินั้น เมื่อถูกทำลายแล้วจะมีผลมากต่อจิตวิญญาณภายใน หากถูกทำลายโดยผู้มีธรรมจริงแล้วได้ธรรมอย่างน้อยขั้นต่ำ เช่น พระโสดาบัน จะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากถูกทำลายโดยผู้ที่ไม่มีธรรมแล้ว ก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น เสียเซลฟ์, เสียความมั่นใจในตัวเอง, เคว้งคว้าง, ไร้จุดยืน, สูญเสียความมั่นใจทั้งหมดไป บางรายอาจมีอาการแย่กว่านั้น หลายครั้งที่บุคคลถูกทำลายสักกายทิฏฐิโดยผู้มีธรรมแล้วแต่ "บางสิ่ง" ขัดขวางอยู่ พยายามครอบงำหรือดลใจ ให้เขาไม่อาจทรงอยู่ในธรรมได้ เขาจะเกิดอาการเป๋ เหมือนนักมวยที่ถูกชกอย่างหนัก แม้จะมีผู้มีธรรมอยู่ตรงหน้า รอให้ธรรมอยู่ตรงหน้า แต่เพราะบางสิ่งที่ครอบงำเขาอยู่ หรือจิตใจของเขาที่ไม่ศรัทธาผู้มีธรรม จะยิ่งทำให้เขาเป๋ แปรปรวน และมีอาการคล้ายๆ จะเป็นคนบ้า ก็ยังได้ (หากเขายอมศรัทธาแต่โดยดี จะไม่เป็นเช่นนี้ และจะเกิดปัญญา บรรลุธรรมได้เลย) ดังนั้น ผู้มีธรรมจึงต้องมีทั้งการทำลายสักกายทิฏฐิให้แก่ผู้อื่นแล้วยังต้องอาศัยศรัทธาของคนผู้นั้น เพื่อให้เขาน้อมรับธรรมด้วยไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ที่ถูกทำลายสักกายทิฏฐิได้ ทั้งนี้ สักกายทิฏฐิ เป็นสิ่งที่ไม่อาจทำลายได้ด้วยวิธีจิตสู่จิตแต่จะหมดสิ้นได้เมื่อผู้นั้นยอมจำนนโดยธรรมอย่างแท้จริง



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB