รูปนาม

วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
รูปนาม เป็นคำที่ใช้กันในนักวิปัสสนา ประกอบด้วยคำว่า "รูป" หมายถึง "สิ่งที่ถูกรู้" และ "นาม" หมายถึง "ตัวรู้-ผู้รู้" โดยนักวิปัสสนาย่อมพิจารณาธรรมใดๆ ก็ตามอยู่ใน "รูปนาม" นี้เท่่านั้น ไม่มีอื่น ยกเว้นนิพพาน ที่พ้นแล้วจากรูปนาม เช่น เมื่อเห็นนิมิต, ดวงกสิณ ก็พิจารณาเป็นเพียงรูปเฉยๆ ไม่มีอื่น ไม่ปรุงแต่งต่อไปอีก จนเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นดับลง ด้วยไม่จีรัง ไม่เที่ยง จากสิ่งหนึ่งที่ปรากฏไปสิ่งหนึ่งเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งเกิดแล้วดับไป สักแต่ว่าเป็นรูป, สิ่งใหม่เกิดขึ้นแล้วดับไปอีก ก็สักแต่ว่าเป็นรูป เท่านั้น ส่วนเราที่รับรู้ ตัวรับรู้ ในสิ่งที่เกิดนั้นก็สักแต่ว่าเป็นนาม เท่านั้นเอง เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเห็นสิ่งใด เช่น ดวงนิมิตกสิณ, ดวงแก้ว, เมืองนิพพาน, เมืองแก้ว ฯลฯ ล้วนแต่เห็นเป็นเพียง "รูป" เท่านั้น ไม่ใช่นิพพาน สิ่งใดๆ ทั้งหลายทั้งมวลที่รับรู้ได้ด้วยอายตนะหกเครื่องรับรู้นี้ ย่อมสักแต่ว่าเป็น "รูป" เท่านั้น มิใช่อื่น อันมีแต่ความไม่เที่ยง ไม่จีรัง ไม่อาจยึดมั่นถือมั่นได้ ไม่ใช่ตัวตนของตนที่แท้จริง หรือแม้แต่ "ตัวรู้, ผู้รู้, ความรู้" ที่ไปรับรู้สิ่งเหล่านี้ ก็สักแต่ว่าเป็น "นาม" เท่านั้น อันตัวรู้, ผู้รู้, ความรับรู้ ทั้งหลาย ก็ล้วนแต่เป็น "นาม" อันไม่เที่ยง ไม่จีรัง ไม่ใช่ตัวตนของตน ไม่อาจยึดมั่นถือมั่นได้ เช่นนี้ มิใช่นิพพาน จนเมื่อสุดแล้วแห่งรูป ไม่มีรูปใดๆ ให้รับรู้ได้อีก ที่สุดแล้วแห่งนาม ไม่มีตัวรู้ หรือผู้รู้ใดๆ มารับรู้อีก นั้นคือ "สุดแล้วแห่งรูปนาม" ย่อมแจ้งแทงตลอดถึงนิพพานได้ อันสิ่งใดๆ ที่รับรู้หรือเห็นนิพพานได้ ย่อมไม่ใช่นิพพาน เพราะเป็นเพียง "นาม" ผู้รู้, ผู้ดู, ผู้มอง เข้าไปเห็นนิพพานเท่านั้น หากเห็นได้เช่นนั้น ย่อมเรียกได้ว่าเป็น "อาตนะนิพพาน" คือ นามผู้รู้ได้ถึงนิพพาน ซึ่งก็คือ "ธรรมกาย" นั่นเอง เห็นนิพพานเช่นนี้ ย่อมไม่ใ่ช่นิพพาน ย่อมไม่ใช่การบรรลุธรรม อันตัวเรา มองไม่เห็นตัวเอง ต้องมองตัวเองในกระจก ฉันใด นิพพานที่รับรู้, เห็นได้ ย่อมไม่ใช่นิพพานฉันนั้นเหมือนกัน นิพพานที่รับรู้ได้ ย่อมเป็นเพียง "รูปนาม" ดุจ "ภาพสะท้อนของนิพพานในกระจกเงาฉะนั้น"


บางท่านเป็นนักปฏิบัติสมถกรรมฐาน ได้นิมิตกสิณ หรือมีตาทิพย์ เข้าสู่รูปฌาน เห็นนิพพานเป็นเมืองแก้ว นั่นคือ อาการปกติของผู้เจริญสมถกรรมฐานที่ยังไม่ได้เข้าสู่วิปัสสนากรรมฐาน มีฐานด้านสมถะดีแล้วแค่ต่อด้วยวิปัสสนากรรมฐานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ย่อมแจ้งแทงตลอดถึงนิพพานได้ หรือหากบุคคลไม่มีพื้น ไม่เคยเห็นนิพพานเมืองแก้ว ไม่ได้นิมิติกสิณ ไม่ได้รูปฌานเลย หากเข้าใจ "หัวใจของวิปัสสนา" เช่นนี้ ก็ย่อมแจ้งแทงตลอดถึงนิพพานได้เช่นกัน อันเป็นธรรมที่พ้นแล้วจาก "รูปนาม" พ้นแล้วจากทั้งฝั่งฝ่ายที่ถูกรู้ และฝั่งฝ่ายของผู้รับรู้ อุปมาเหมือน "นิพพานหนึ่งเดียว" ไม่ใช่นิพพานที่มองเห็นได้ รับรู้ได้ ดุจดั่งภาพสะท้อนในกระจกเงา ที่ยังมีสองฝั่งฝ่ายปรากฏอยู่ คือ ฝ่ายผู้รู้, ผู้ดู, ผู้เห็น และฝั่งฝ่ายของสิ่งที่ถูกรู้ อยู่




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB