เหตุปัจจัย

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
เหตุปัจจัย คือ สิ่งที่เกิดและดับร่วมในเหตุการณ์หนึ่งๆ ร่วมกัน ปรุงแต่งร่วมกัน แต่ไม่ใช่เหตุผลของกันและกัน เช่น ฝนตก, กบร้อง, ฟ้าร้อง, ฟ้าผ่า, เมฆลม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในเหตุการณ์หนึ่งๆ แต่ไม่ใช่เหตุผลของกันและกัน หากจะอธิบายถึง เหตุ, ปัจจัย และผล สามประการนี้ สามารถอธิบายได้ว่า เมื่อ "เหตุดับลงแล้ว" จึงก่อให้เกิด "ผลขึ้น" โดยมี "ปัจจัย" ร่วมปรุงแต่งกับเหตุหรือผลด้วย ในระหว่างที่เหตุหรือผลยังดำรงอยู่ ไม่สิ้นไป สิ่งที่ปรุงแต่งร่วมเพื่อให้สิ่งอื่นดำีรงอยู่ จึงเรียกว่า "ปัจจัย" ส่วนสิ่งที่ดับไปเพื่อให้ีอีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น เรียกว่า "เหตุ" และสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากการดับลงของเหตุ ก็คืิอ "ผล" นั่นเอง ในหลักพุทธศาสนา มีคำที่เกี่ยวข้องกับเหตุ, ผล และปัจจัย เช่น หลักอิททัปปัจจยตา ซึ่งเป็นหลักการที่กล่าวถึง เหตุ, ผล และปัจจัย โดยรวมๆ ไม่ไ้ด้แยกแยะให้ชัดเจนว่าอะไรเป็นเหตุ, ผลหรือปัจจัย เช่น วลีที่ว่า "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงเกิด เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ" อันเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งที่ยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏแห่งการเกิด-ดับ นั้น ยกเว้นแต่เพียง "นิพพาน" เท่านั้น ที่ไม่ได้อยู่ในสังสารวัฏแห่งการเกิด-ดับ ดังนั้น นิพพานจึงไม่ใช่ธรรมอันอยู่ภายใต้หลักอิททัปปัจจัยตา ไม่ได้อาศัยเหตุใดเกิด, ปัจจัยใดปรุงแต่ง

อนึ่ง ธรรม ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ของพระพุทธเจ้าที่จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่นั้น บางหมวดหมู่ก็เป็นเหตุผลของกันและกัน, บางหมวดหมู่ก็เป็นเหตุปัจจัยที่เกิดร่วมกัน แต่บางหมวดหมู่ก็ไม่ใช่ทั้งเหตุผลหรือเหตุปัจจัยของกันและกันเลย ยกตัวอย่่างเช่น อรหันตผล ย่อมเป็นผล ซึ่งมีเหตุคือ "อวิชชาคือความหลงสิ้นไป" มีปัจจัยร่วมปรุงแต่งคือ "ปัญญา" เกิดขึ้นร่วมกับความเป็นอรหันต์ ก็ดี, "อภิญญา" เกิดขึ้นร่วมด้วย ก็ดี, "ธรรม" อื่นๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย ก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นร่วมด้วยนี้ ล้วนเป็น "ปัจจัยของความเป็นพระอรหันต์" มิใช่เหตุของความเป็นพระอรหันต์ ทว่า "นิพพาน" มิได้อาศัยความเป็นพระอรหันต์ในการก่อเกิด หรือสิ่งใดๆ ก่อเกิดเลย เพราะนิพพานหลุดพ้นแล้วจากวังวนของการเกิด-ดับ ดังนั้น จึงมิได้อยู่ในระบบของการเกิดและดับ หรือระบบของเหตุ, ผล และปัจจัยใดๆ เลย อาทิเช่น บุคคลดำรงชีพถึงที่สุดในบางช่วงบางขณะ ก็อาจเกิด "กิเลสนิพพาน" ขึ้นได้ แต่หากไม่แจ้งแทงตลอดต่อให้ถึงนิพพาน ก็จะไม่เกิดปัญญา ไม่บรรลุธรรม ไม่ได้อรหันตผล อุปมาเหมือน "เมฆ" (กิเลส) ที่บดบังแสงจันทร์ ดับสิ้นลงแล้ว (กิเลสนิพพาน) แ่ต่บุคคลนั้นมิทันได้สังเกตุแสงจันทร์ที่ไร้เมฆบดบัง ย่อมไม่อาจเกิดปัญญาสว่างไสวได้ บางท่านก็มีจิตถึงพุทธะแล้ว ได้พระธรรมกายแล้ว อุปมาดั่งบัวบานอยู่ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะมาโปรด พวกเขายังไม่ได้เข้าถึงธรรม ยังไม่ได้บรรลุอรหันตผล แต่พร้อมแล้วด้วยประการทั้งปวง เมื่อพระพุทธเจ้ามาโปรดโดยไม่ได้แสดงธรรมอันกล่าวได้ด้วยคำพูดใดๆ พวกเขาก็บรรลุธรรมได้ แต่หากไม่ได้แสงธรรมจากพระพุทธเจ้า แล้ว พวกเขาก็จะยังไม่บรรลุธรรม อุปมาดั่ง บัวบานที่รอแสงอา่ทิตย์รุ่งอรุณส่องเข้าถึงใจกลาง ฉะนั้น



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB