สัจจานุโพโธ

วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 0 ความคิดเห็น
สัจจานุโพโธ หมายถึง การตามรู้ซึ่งความจริง จนรู้เท่าทัน รู้แ้จ้ง ซึ่งยังไม่ใช่การบรรลุธรรมอันแท้จริง เหมือนการยิงธนูไล่ตามเป้าบิน ลูกศรแตะที่เป้า แต่ยังไม่ทะลุเป้า ฉะนั้น เรียกว่า ตามเท่าทัน แตะถึงเป้า แต่ยังไม่ทะลุทะลวง จึงยังไม่ใ่ช่การบรรลุธรรมที่แท้จริง ดังนั้น การบรรลุธรรมที่แท้จริง จึงมีลักษณะคล้ายการ "เลยเถิด" ไปเล็กน้อย จากธรรมที่บรรลุนั้นๆ เช่น การที่พระอรหันต์ที่บรรลุธรรมแล้ว มักจะกล่าวอะไรที่ดูเหมือนเลยเถิดไปบ้าง เช่น ท่านสุภัททะ กล่าวว่า "พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วก็ดี ไม่เห็นต้องเสียใจอะไรเลย จะได้ไม่มีใครควบคุมให้เราอยู่ในธรรมวินัยอีก" เป็นต้น ซึ่งเป็นการกล่าวเลยเถิดออกไป แ่ต่ก็ทำให้พระอรหันต์รูปอื่น พอเ้ข้าใจได้ว่าท่านได้บรรลุธรรมแล้วจริงๆ ทั้งนี้ มิใช่ว่าผู้ที่เลยเถิดออกไปจะต้องบรรลุธรรมทั้งหมด ก็หาไม่ ลักษณะการเลยเถิดออกไป เป็นเพียงลักษณะหนึ่งของผู้บรรลุเท่านั้น แต่หากยังไม่บรรลุธรรม ก็จะยังมีลักษณะของ "การรู้ตามจริง" ซึ่งจะยังบรรลุ ไม่เลยเถิดออกไป ยังเป็นเพียง "สุตมยปัญญา" อยู่เช่นนี้ ซึ่งอยู่ในขั้น "ปริยัติ" นั่นเอง ดังข้อความบางส่วนในพระไตรปิฎกมีดังนี้


การตามรู้ซึ่งความจริง (สจฺจานุโพโธ)

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! การตามรู้ซึ่งความจริง (สจฺจานุโพโธ)
มีได้ ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร ? บุคคลชื่อว่าตามรู้ซึ่งความจริง
ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร ? ข้าพเจ้าขอถามพระโคดมผู้เจริญถึงการ
ตามรู้ซึ่งความจริง”
ภารท๎วาชะ ! ได้ยินว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้
เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านหรือในนิคมแห่งใดแห่งหนึ่ง. คหบดี
หรือคหบดีบุตร ได้เข้าไปใกล้ภิกษุนั้นแล้วใคร่ครวญดูอยู่
ในใจเกี่ยวกับธรรม ๓ ประการ คือ :-
ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโลภะ
ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ
ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ....
เมื่อเขาใคร่ครวญดูอยู่ซึ่งภิกษุนั้น ย่อมเล็งเห็นว่า
เป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโลภะ ต่อแต่นั้น
เขาจะพิจารณาใคร่ครวญภิกษุนั้นให้ยิ่งขึ้นไปในธรรม
ทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ….ในธรรมทั้งหลายอันเป็น
ที่ตั้งแห่งโมหะ…. เมื่อเขาใคร่ครวญดูอยู่ซึ่งภิกษุนั้น
ย่อมเล็งเห็นว่า เป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่ง
โทสะ....ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ
ลำดับนั้น เขา :-
(๑) ปลูกฝัง ศรัทธา ลงไปในภิกษุนั้น ครั้นมี
ศรัทธาเกิดแล้ว
(๒) ย่อม เข้าไปหา ครั้นเข้าไปหาแล้ว
(๓) ย่อม เข้าไปนั่งใกล้ ครั้นเข้าไปนั่งใกล้แล้ว
(๔) ย่อม เงี่ยโสตลง ครั้นเงี่ยโสตลง
(๕) ย่อม ฟังซึ่งธรรม ครั้นฟังซึ่งธรรมแล้ว
(๖) ย่อม ทรงไว้ซึ่งธรรม
(๗) ย่อม ใคร่ครวญซึ่งเนื้อความแห่งธรรมทั้งหลาย
อันตนทรงไว้แล้ว เมื่อใคร่ครวญซึ่งเนื้อความแห่งธรรมอยู่
(๘) ธรรมทั้งหลายย่อมทนต่อความเพ่งพินิจ,
เมื่อการทนต่อการเพ่งพินิจของธรรมมีอยู่
(๙) ฉันทะย่อมเกิดขึ้น ผู้มีฉันทะเกิดขึ้นแล้ว
(๑๐) ย่อม มีอุสสาหะ ครั้นมีอุสสาหะแล้ว
(๑๑) ย่อม พิจารณาหาความสมดุลย์แห่งธรรม,
ครั้นมีความสมดุลย์แห่งธรรมแล้ว
(๑๒) ย่อม ตั้งตนไว้ในธรรมนั้น; เขาผู้มีตน
ส่งไปแล้วอย่างนี้อยู่ ย่อม กระทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะ
(ความจริงโดยจริงความหมายสูงสุด) ด้วยนามกาย ด้วย,
ย่อม แทงตลอดซึ่งธรรมนั้น แล้วเห็นอยู่ด้วยปัญญา ด้วย.
ภารท๎วาชะ !
การตามรู้ซึ่งความจริง ย่อมมี
ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้,
บุคคลชื่อว่าย่อมตามรู้ซึ่งความจริง
ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้,
และเราบัญญัติการตามรู้ซึ่งความจริง
ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้;
แต่ว่านั่นยังไม่เป็นการตามบรรลุถึงซึ่งความจริง.

การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง
(สจฺจานุปตฺติ)
“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง
(สจฺจานุปตฺติ) มีได้ ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร ? บุคคลชื่อว่าย่อมตามบรรลุถึง
ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร ? ข้าพเจ้าขอถามพระโคดมผู้เจริญ
ถึงการตามบรรลุถึงซึ่งความจริง”
ภารท๎วาชะ ! การเสพคบ การทำให้เจริญ
การกระทำให้มาก ซึ่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้นแหละ (ทั้ง ๑๒ ข้อ
ข้างต้น) เป็นการตามบรรลุถึงซึ่งความจริง.
ภารท๎วาชะ !
การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ย่อมมี
ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้,
บุคคลชื่อว่าย่อมตามบรรลุถึงซึ่งความจริง
ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้,
และเราบัญญัติการตามบรรลุถึงซึ่งความจริง
ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้.

ม. ม. ๑๓/๖๐๑-๖๐๕/๖๕๕-๖๕๗



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

©Copyright 2011 Mouth Buddha | TNB